Politics

‘วิษณุ’ แนะอย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ เชื่อมีทางออกปมถวายสัตย์ฯ

“วิษณุ” แนะอย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ เชื่อมีทางออกปมถวายสัตย์ฯ ชี้หากมีกระทู้สดในสภา “นายกรัฐมนตรี” ควรต้องไปตอบ แต่หากติดภารกิจสามารถมอบหมายคนอื่นไปแทนได้

วิษณุ2

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ไปตอบกระทู้ถามสดต่อสภาฯ ว่า หากเป็นกระทู้สดปกติ ควรจะต้องไป แต่หากติดภารกิจไปไม่ได้ ก็ต้องแจ้งสภาฯ เว้นแต่จะมอบคนอื่นไปตอบแทน แต่หากเป็นเรื่องประเด็นการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ นายกรัฐมนตรีไม่ไปตอบ อาจเป็นเพราะเรื่องอยู่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน หากไม่มีการถามกระทู้ในวันดังกล่าว ถือว่ากระทู้นั้นตกไป และสามารถถามวันหลังได้อีก

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ กล่าวว่า ทราบจากข่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินจะใช้เวลา 2 – 3 สัปดาห์ในการพิจารณา ส่วนจะส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ต้องไปถามผู้ตรวจการแผ่นดินเอง

“ที่มีใครต่อใครไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้มีคำวินิจฉัยออกมา ถ้าวินิจฉัยเองได้ ก็แล้วไป แต่ถ้าผู้ตรวจฯ วินิจฉัยยาก ก็ต้องส่งไปยังองค์กรที่มีอำนาจในการวินิจฉัย เพราะผู้ตรวจฯ ไม่มีอำนาจวินิจฉัย จึงอยู่ที่จะส่งเรื่องไปที่ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องถามผู้ตรวจฯ ว่า มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยแค่ไหนอย่างไร” นายวิษณุ กล่าว

ส่วนที่พูดว่าอาจจะส่งเรื่องให้ศาลปกครองวินิจฉัยนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า อาจเนื่องจากว่ายังไม่รู้ว่าแน่ชัดว่าเรื่องนี้ควรจะไปศาลไหน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจที่จะส่งเรื่องได้ทั้งศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นเรื่องที่ขัดต่อรับธรรมนูญ ก็ต้องส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเป็นประเด็นการขัดต่อกฏหมายแม่ กฏหมายฉบับใดใฉบับหนึ่ง ก็ต้องส่งเรื่องไปที่ศาลปกครอง

ต่อกรณีที่ผ่ายค้านจะยื่นอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ นายกรัฐมนตรีต้องไปชี้แจงด้วยตัวเองหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องขอดูญัตติก่อน การยื่นญัตติสามารถทำได้ตาม มาตรา 151 คือ การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ใครโดนญัตตินี้อย่างไรก็ต้องไป แต่ถ้าเป็นญัตติการเปิดอภิปรายทั่วไป สอบถามปัญหาข้อเท็จจริง ถ้าเกี่ยวพันกับใคร หรือใครรู้ก็ต้องไปตอบ เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการมอบหมาย แต่เป็นการถามรัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลสามารถมอบหมายตัวแทนได้ การยื่นญัตติทั้ง 2 อย่าง สามารถทำได้ครั้งเดียวในรอบ 1 ปี คือ ภายใน 365 วัน และสมาชิกวุฒิสภาก็สามารถยื่นได้

เมื่อถามว่า ระหว่างที่เรื่องอยู่ในการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดิน นายกรัฐมนตรีไม่ควรไปตอบหรือชี้แจงต่อสภาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงไม่ทราบ แต่ได้ยินมาว่ามีการยื่นเรื่องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน และอีกฝ่ายหนึ่งไปยื่นเรื่องที่อัยการสูงสุด โดยข้อหาที่ต่างกัน แต่เป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน แต่รัฐบาลยังไม่ได้รับเรื่องเหล่านี้ เลยยังไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินและอัยการสูงสุดรับเรื่องไว้ แล้วรัฐบาลมีหน้าที่ไปชี้แจงใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ ซึ่งขึ้นอยู่กับเจ้าตัวว่าจะไปหรือไม่ไป ซึ่งนายกรัฐมนตรียังไม่ได้ตอบเรื่องนี้ ตนก็ขอไม่ตอบ และไม่ให้ความเห็น ส่วนที่ฝ่ายค้านต้องการให้เรื่องดังกล่าวผ่านการชี้แจงต่อสภาฯ ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องเหล่านี้มีช่องทางอยู่แล้ว และรัฐบาลไม่จำเป็นต้องหารือกับผู้ตรวจการแผ่นดินและที่ผ่านมาก็ไม่เคยทำ

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ขอตอบว่า หากผลออกมาในทางลบ จะทำอย่างไร เพราะหากไม่ทราบเดี๋ยวจะเสียเหลี่ยม

เมื่อถามว่า การยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินจะเป็นผลดีหรือไม่ดีต่อตัวนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่กล้าตอบ แต่ไม่เป็นปัญหาอะไร อีกทั้งใครจะไปยื่นเรื่องเหล่านี้ก็ได้ และผู้ร้องก็ไม่ต้องการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัย แต่ต้องการใช้เป็นเส้นทางผ่านไปยังองค์กร เพราะผู้ร้องไม่สามารถยื่นเองได้ ถ้าจะยื่นเองก็ต้องเปลี่ยนข้อหา

“ที่ผ่านมาผู้ตรวจฯ รับเรื่องวิฉัยเอง ไม่ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญก็เคยมี หรือผู้ตรวจฯ จะไม่รับก็ได้ โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอ แต่อย่าเพิ่งไปตีตนก่อนไข้ว่าจะไปถึงขั้นนั้น ขอรอดูแล้วกัน” นายวิษณุ กล่าว

Avatar photo