Business

‘บินไทย’ สั่งรื้อโครงข่ายครั้งใหญ่ เพิ่มประสิทธิภาพเชื่อมเที่ยวบินกับพันธมิตร

“การบินไทย” สั่งรื้อโครงข่ายการบินครั้งใหญ่ในรอบหลายปี หวังเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อเที่ยวบินในสุวรรณภูมิกับพันธมิตร พร้อมสั่งศึกษาการตั้งหน่วยงานดูแล “เครื่องบิน” โดยเฉพาะ

สุเมธ การบินไทย

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยมีฐานะเป็นสายการบินแห่งชาติ และเป็นสายการบินสัญชาติไทยที่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศมากที่สุด จึงต้องทำหน้าที่ขนส่งผู้โดยสารมาจากต่างประเทศ แล้วให้สายการบินอื่นๆ รับผู้โดยสารไปกระจายต่อในเส้นทางภายในประเทศ หรือเส้นทางบินใกล้ๆ

ดังนั้น การบินไทยจึงมีแนวคิดจะปรับปรุงโครงข่ายการบินและตารางบินครั้งใหญ่ในรอบหลายปี เพื่อทำให้การเชื่อมต่อเที่ยวบินเกิดความชัดเจน มีประสิทธิภาพ และทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการบินที่ชัดเจนมากขึ้น

เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มเห็นแนวทางการปรับปรุงโครงข่ายได้ชัดเจนมากขึ้นในช่วง 2 เดือนข้างหน้า และเริ่มประยุกต์ใช้ได้ในปี 2563 พร้อมยอมรับว่า การปรับปรุงโครงข่ายการบินจะส่งผลให้การบินไทยต้องปรับโครงสร้างองค์กรด้วย

การบิน ๑๙๐๓๐๑ 0024

“ถ้าการปรับโครงสร้างการบินครั้งนี้แล้วเสร็จ จะเกิดมิติการจัดการใหม่ การบินไทยจะเป็นสายการบินหลักขนคนต่างชาติเข้ามา ถ้าใครจะมาเชื่อมเราก็ต้องมาดูไฟล์ตการบินของเรา และยืนยันว่าพี่น้องเพื่อนฝูงในอุตสาหกรรมการบินของเราจะมีตารางบินที่ไม่ซ้ำกัน ไม่เหยียบกัน แต่จะเชื่อมต่อกัน จะไม่เกิดปัญหาผู้โดยสารลงเครื่องการบินไทยแล้ว มีเวลาต่อเครื่องสายการบินอื่นน้อยไป หรือมากไป” นายสุเมธกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันการบินไทยเชื่อมต่อกับไทยสมายล์ ที่เป็นบริษัทลูก 100% อยู่แล้ว ส่วนสายการบินนกแอร์ใช้สนามบินดอนเมืองเป็นฐาน แต่หากนกแอร์ต้องการย้ายฐานกลับมาที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก็ต้องพิจารณาเรื่องการเชื่อมต่อกับโครงข่ายใหม่ของการบินไทยด้วย ส่วนสายการบินอื่นๆ จะมาเชื่อมต่อเที่ยวบินด้วยหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของพันธมิตรแต่ละราย

นายสุเมธกล่าวต่อว่า การปรับปรุงโครงข่ายการบินครั้งนี้ ยังจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้สายการบินไทยสมายล์ในการเชื่อมต่อกับสายการบินพันธมิตร สตาร์ อัลไลแอนซ์ด้วย โดยปัจจุบันไทยสมายล์ถือว่าอยู่ในจุดที่ดีแล้ว เพียงแต่ต้องค่อยๆ แก้ไขปัญหาให้ทุกจุด โดยเชื่อว่าเมื่อดำเนินการตามแผนดังกล่าว ในช่วง 3 -5 ปีหลังจากนี้ ไทยสมายล์จะมีผลการดำเนินงานที่ดี และอาจจะต้องขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นอีก ด้านการบินไทยอาจจะไม่ต้องให้บริการเส้นทางภายในประเทศในอนาคต

การบินไทย

แหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ปรึกษาได้เสนอให้การบินไทยจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลฝูงบินแบบครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนจัดหาเครื่องบิน-กำหนดวิธีการจัดหา-จัดตารางบิน-จำหน่ายเครื่องบินออก (Plan-Buy-Fly-Sale) เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยไม่มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องเครื่องบินโดยเฉพาะ แต่แบ่งการดูแลเครื่องบินเป็นฝ่ายย่อยๆ เช่น ฝ่ายหนึ่งดูแลการจัดหาเครื่องบิน อีกฝ่ายดูแลการการใช้งานเครื่องบิน เป็นต้น ส่งผลให้ไม่ใครที่สามารถตอบคำถามในภาพรวมได้ ทั้งที่เครื่องบินเป็นเครื่องมือทำหากินและทรัพย์สินสำคัญขององค์กร

คณะกรรมการ (บอร์ด) และ DD เห็นว่าแนวคิดดังกล่าวของที่ปรึกษาเป็นแนวคิดที่ดี จึงสั่งการให้การบินไทยลองศึกษาว่า จะสามารถปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเรื่องเครื่องบินโดยเฉพาะได้หรือไม่

หน่วยงานนี้จะดูแลตั้งแต่การวางแผนจัดหาเครื่องบิน วิธีการจัดหาเครื่องบิน แหล่งเงินทุน ประเภทเครื่องบิน ตารางบิน อายุการใช้งาน ไปจนถึงระยะเวลาการจำหน่ายเครื่องบินที่เหมาะสมและได้ราคาที่ดีสุด ดังนั้นหน่วยงานนี้จะต้องมีความรู้ด้านการเงินและอุตสาหกรรมการบินเป็นอย่างดี

สุวรรณภูมิ112

“โครงสร้างในปัจจุบันแบ่งการทำงานเป็นฝ่ายย่อยๆ ทำให้ไม่มีใครดูภาพรวม เช่น เครื่องบินแอร์บัส เอ 380 ประกาศเลิกผลิต เราก็ไม่มีสามารถตอบคำถามในภาพรวมได้ว่า เราควรใช้แอร์บัส เอ 380 ที่มีอยู่ไปอีกกี่ปีและขายเครื่องออกเมื่อไหร่จึงจะคุ้มค่าที่สุด ดังนั้นจึงมีแนวคิดจะตั้งหน่วยงานมาดูเรื่องเครื่องบินโดยเฉพาะ เพื่อบริหารทรัพย์สินให้เกิดมูลค่าสูงสุด” แหล่งข่าวกล่าว

การบินไทยจะต้องศึกษาเรื่องนี้ใน 2 มิติ ได้แก่ 1.การตั้งหน่วยงานนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เพราะถ้าตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาจริงๆ ก็ต้องดึงเนื้องานจากฝ่ายต่างๆ ออกมาดูในภาพรวม และ 2.สอดคล้องกับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทหรือไม่

ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงใน 6 เดือนข้างหน้า หรือไม่เกินปี 2562 ก็จะเริ่มเห็นรูปร่างหน้าตาของหน่วยงานใหม่ว่า ควรจะมีโครงสร้างและระดับการบังคับบัญชาเป็นอย่างไร ส่วนจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ การบินไทยก็ต้องเสนอเรื่องขึ้นไปตามลำดับชั้น  ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารและบอร์ด

Avatar photo