General

6 วิธีลดเสี่ยง ‘โรคพยาธิตืดหมู’

กรมควบคุมโรค แนะประชาชนลดความเสี่ยงโรคหนอนพยาธิ กินอาหารปรุงสุกด้วยความร้อน ดื่มน้ำสะอาด ล้างผัก ผลไม้ผ่านน้ำหลายๆรอบ และถ่ายอุจจาระลงส้วม ย้ำอย่าประมาท เหตุพยาธิตืดหมูสามารถฝังตัวในอวัยวะต่างๆของคน รวมถึงลิ้น

นพ.สุวรรณชัย กรมควบคุมโรค ทำใหม่
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวหญิงรายหนึ่ง มีซีสต์ หรือถุงตัวอ่อนพยาธิตืดหมูฝังอยู่ในลิ้น ว่า พยาธิตืดพบได้ทั้งในคน และในสัตว์เลี้ยง ที่สามารถติดต่อมาสู่คนได้ เช่น หมู สุนัข แมว วัว ควาย รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

สำหรับพยาธิตืดหมู ที่พบในคนจะมีหมูเป็นตัวนำกึ่งกลาง กินอาหารที่ปนเปื้อนไข่พยาธิ หรือในอุจจาระคน แล้วเกิดเป็นถุงตัวอ่อนในหมู เรียกกันว่า “พยาธิเม็ดสาคูในเนื้อหมู” เมื่อคนกินเม็ดสาคูในเนื้อหมูเข้าไป จะเจริญเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้เล็ก โดยพยาธิตืดมีอายุในคนได้นานถึง 25 ปี ซึ่งสามารถกินยาถ่ายพยาธิตืดออกมาได้

หากคนกินอาหารที่มีไข่พยาธิตืดหมูที่ปนเปื้อนมากับอาหารหรือน้ำดื่ม หรืออาเจียนขย้อนพยาธิมาที่กระเพาะ พยาธิตัวอ่อนจะฟักจากไข่แล้วไชทะลุลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด หรือน้ำเหลืองไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น สมอง ตา กล้ามเนื้อ กระพุ้งแก้ม และลิ้น เป็นต้น

สำหรับการเกิดโรคมีมาก หรือน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่ง จำนวน และอายุของถุงตัวอ่อน ที่เข้าไปฝังอยู่ที่อวัยวะใด เช่น ฝังที่สมองอาจทำให้เกิดอาการชัก ความดันในสมองสูง เคลื่อนไหวผิดปกติ หากฝังที่ตาทำให้บวม เลือดออก มองเห็นมัว หากฝังที่กล้ามเนื้ออาจทำให้กล้ามเนื้ออักเสบรุนแรงในระยะแรก และบวมแดง ดังนั้น การที่ถุงตัวอ่อนพยาธิตืดเข้าไปฝังอยู่ในลิ้นตามที่เป็นข่าว จึงต้องพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และผ่าเอาถุงตัวอ่อนพยาธิออก

Cestoda 4 1
เม็ดสาคู : ตัวอ่อนระยะติดต่อพยาธิตัวตืด

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่าองค์การอนามัยโลก ได้จัดให้พยาธิตืดหมู และซิสติเซอร์โคซิส เป็นกลุ่มโรคเขตร้อน ที่ไม่ได้รับความสำคัญ หรือ เป็นโรคที่ถูกละเลย  แต่ในปี 2553 แผนงานโรคเขตร้อนที่ไม่ได้รับความสำคัญ หรือ โรคที่ถูกละเลย ได้จัดทำกลยุทธ์ ที่จะนำไปสู่เป้าหมายในการควบคุม และกำจัดโรคพยาธิตืดหมู และซิสติเซอร์โคซิสในประเทศที่ได้รับการเลือกจากองค์การอนามัยโลก ภายในปี 2563

ในส่วนของประเทศไทย กรมควบคุมโรค แนะประชาชนให้สังเกตตัวเองหากสงสัยว่า มีตัวพยาธิในร่างกาย เช่น มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย น้ำหนักตัวลดผิดปกติ ถ้าไม่แน่ใจสามารถไปพบแพทย์ให้ตรวจวินิจฉัย เพื่อให้ยาฆ่าพยาธิที่มีประสิทธิภาพ เพราะอาจเป็นหนอนพยาธิชนิดอื่นๆได้  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันระบบสุขาภิบาล และระบบสุขภาพของไทยดีขึ้นมาก การขับถ่ายอย่างเป็นระบบ ทำให้ปัญหาโรคหนอนพยาธิลดลงไปมาก

สำหรับมาตรการในการป้องกันโรคพยาธิตืดหมู มี 6 ประการ ดังนี้

1.ประชาชนควรเลือกซื้อเนื้อหมู ผัก และผลไม้ จากแหล่งที่ถูกสุขลักษณะ

2.กรณีเนื้อหมู จะต้องล้างทำความสะอาด หรือแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า –5๐C หรือ 23๐F ซึ่งการแช่แข็งนานติดต่อกัน 4 วัน สามารถฆ่าตัวอ่อนในถุงหุ้มซีสต์พยาธิตืดได้ และปรุงให้สุกด้วยความร้อน

3.ดื่มน้ำสะอาด

4.ผัก ผลไม้ต้องล้างผ่านน้ำหลายๆ รอบให้สะอาดก่อนรับประทาน เพราะผักบางชนิดต้องกินสดๆ

5.ถ่ายอุจจาระลงส้วม

ุ6.ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร ก่อนปรุงอาหาร และหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง เพราะในสิ่งแวดล้อมทั่วไปก็มีหนอนพยาธิชนิดต่างๆ ด้วยเช่นกัน

 

:ขอบคุณภาพพยาธิตัวตืด จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Avatar photo