Business

‘โค้ก’ เก็บเกลี้ยง!! ขวด-กระป๋องนำกลับมารีไซเคิล 100%

หากมีธุรกิจหนึ่งลุกมาประกาศ ลด ละ เลิก และรีไซเคิลผลิตภัณฑ์พลาสติก ทุกคนย่อมคิดว่า องค์กรนี้ดี ร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แล้วก็จบไป แต่หากผู้ที่ประกาศคือ โคคา-โคลา เจ้าตลาดน้ำอัดลมระดับโลก แน่นอนว่า ผลที่เกิดขึ้นย่อมต่างออกไปโดยสิ้นเชิง

โค้ก

นั่นเพราะ แต่ละปี โคคา-โคลา ใช้และผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับเครื่องดื่มในเครือทั่วโลก สูงถึงปีละ 3 ล้านตัน หรือมีกำลังการผลิตถึง 200,000 ขวดต่อนาที ในจำนวนนี้ เป็นขวดพลาสติก PET ขนาด 500 มล. ที่ใช้ถึงปีละ 108 พันล้านขวด ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากกว่า 1 ใน 5 ของปริมาณการผลิตขวด PET ทั้งหมดทั่วโลกที่มีอยู่ประมาณ 500 พันล้านขวดต่อปี!!

ดังนั้น เมื่อโคคาโคล่า ประกาศวิสัยทัศน์ “World Without Waste” หรือโลกปลอดขยะ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าจะเก็บขวดและกระป๋องที่ผลิตออกจำหน่ายทั่วโลก กลับคืนมาได้ทั้งหมด 100% ภายในปี 2573 โดยเริ่มจากปี 2568 จะมีการออกแบบและใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ทั้งหมด หากทำได้จริง ย่อมส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมในระดับโลกแน่นอน โดยเฉพาะผลที่ได้ในเรื่องของการลดปริมาณขยะจากพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาวิกฤตทั่วโลกอยู่ในขณะนี้

ในงาน Circular Living Symposium 2019: Upcycling Our Planet ที่จัดขึ้นโดย บริษัท บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี ตัวแทนจากบริษัท โคคา-โคลา ระบุชัดเจนว่า โคคา-โคลา กำลังเร่งดำเนินการตามวิสัยทัศน์ดังกล่าวอย่างเข้มข้น เพื่อสร้างความร่วมมือสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเริ่มจากการใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ให้มากที่สุด เริ่มจากประเทศในแถบยุโรป ละตินอเมริกา รวมถึงเอเชีย

28231

ปัจจุบัน ออสเตรเลีย เป็นประเทศแรกที่สามารถใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ทั้งหมดเป็นประเทศแรก!!

ขณะที่ในภูมิภาคอาเซียน โคคา-โคล่า ยอมรับว่า ยังเริ่มได้ช้ากว่าประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ดังกล่าวข้างต้น แต่ล่าสุดเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เริ่มปักธงแล้วที่กรุง มะนิลา ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศแรก ที่จะใช้ขวด PET ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด โดยเริ่มต้นจากผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม วีว่า (VIVO) เป็นผลิตภัณฑ์นำร่อง ซึ่งสาเหตุที่เริ่มจากฟิลิปปินส์เป็นแห่งแรก เนื่องจากเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ ยังเตรียมนำกรณีศึกษาถึงการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนของโคคา-โคลา ในการจัดเก็บขวด กระป๋อง โดยพันธมิตรในวงจรตั้งแต่การเก็บคืนจากอาสาสมัคร เข้าสู่พาร์ทเนอร์ผู้ผลิตพลาสติกหมุนเวียนหรือรีไซเคิล ซึ่งดำเนินการแล้วในแอฟริกาใต้ และ เม็กซิโก เพื่อนำมาเป็นโมเดลใช้กับประเทศในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

cokeOK

จิ๊กซอร์สุดท้ายจะปิดวงจรเชื่อมต่อทั้งระบบคือ นำขวดเก่า กระป๋องเก่า มาทำเป็นขวดใหม่ กระป๋องใหม่เพื่อบรรจุสินค้าให้ได้ทั้งหมด 100% เพื่อลดการใช้พลาสติกซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีวันหมดไปได้ และช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกบนโลก ซึ่งสิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทยคือ การมีโรงงานรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานเพื่อนำกลับมาผลิตและบรรจุเครื่องดื่มใหม่ได้” ตัวแทนจากโคคา-โคลา กล่าว

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ของการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้สำเร็จนั้น จะต้องประกอบด้วย การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้จริง, ต้องสามารถเก็บขวด กระป๋อง ที่จำหน่ายสินค้าออกไปแล้วกลับคืนมาสู่กระบวนการผลิตใหม่ หรือ รีไซเคิล ได้ทั้งหมด และสิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างภาคีหุ้นส่วนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันทำงานเพื่อผลักดันไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ “โลกปลอดขยะ”

หากสามารถทำได้ตามเป้าหมาย ไม่ใช่เฉพาะโคคา-โคลา เท่านั้น แต่รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่ประกาศออกมารณรงค์และร่วมมือในเรื่องการลดปริมาณขยะพลาสติก การนำผลิตภัณฑ์รีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ คำว่า “โลกสวยด้วยมือเรา” คงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

Avatar photo