Business

เครือสหพัฒน์ผนึกยักษ์พลังงาน เร่งพัฒนาไมโครกริด ปั้นสวนอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

เครือสหพัฒน์ ร่วมมือพันธมิตรพลังงาน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีพลังงาน เดินหน้าพัฒนาสวนอุตสาหกรรมให้เป็นสวนอุตสาหกรรมอัจฉริยะที่มีโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (Micro grid) ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

DSBF1805
วิชัย กุลสมภพ

 

นายวิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เครือสหพัฒน์ ได้ร่วมกับ บริษัท เจเนรัล อิเลคทริค (ประเทศไทย) จำกัด (จีอี) บริษัท อิมแพค โซล่าร์ จำกัด และบริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด ลงนามใน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีพลังงานในการพัฒนาสวนอุตสาหกรรมให้เป็นสวนอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Park)

ความร่วมมือดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ให้มีระบบโครงข่ายไฟฟ้าไมโครกริด (Micro Grid) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยระบบสายส่งพลังงานของสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ และเทคโนโลยีดิจิทัลของ จีอี จะทำให้เกิดต้นแบบการแลกเปลี่ยนพลังงานอัจฉริยะจากแหล่งพลังงานต่างๆ ได้แก่ ระบบผลิตไฟฟ้าของ บริษัท สหโคเจน จำกัด (มหาชน) โซล่ารูฟท็อบของบริษัท อิมแพค โซล่าร์ จำกัด และระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า ซึ่งการพัฒนาไมโครกริดนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารพลังงานสำหรับลูกค้าในสวนอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต

DSBF1721

สำหรับบริษัท อิมแพ็ค โซลาร์ จำกัด เป็นบริษัทเอกชนรายแรกในประเทศไทยที่ให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าในรูปแบบ Private PPA จากการติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อบ เพื่อให้บริการพลังงานสะอาดและราคาประหยัดแก่ลูกค้าในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ที่สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อบและระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานพร้อมเชื่อมต่อระบบกับแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนพลังงานแบบดิจิทัล โดยมีประสบการณ์ในการให้บริการติดตั้ง โซล่าร์รูฟท็อบครบวงจรให้แก่ ลูกค้าหลายราย อาทิ บิ๊กซี ห้องเย็นของบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และคลังสินค้าของบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) เป็นต้น

ทั้งนี้ในปี 2561 อิมแพ็ค โซลาร์ ได้เริ่มติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อบ ณ สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ศรีราชา โดยได้รับการสนับสนุนจาก JCM (Joint Crediting Mechanism) โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม รัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก

LC9rMSthv20160608133034

นอกจากนี้ เครือสหพัฒน์ ยังวางเป้าหมายที่จะนำเทคโนโลยีแห่งอนาคตมาพัฒนาสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ศรีราชา อาทิ ระบบการกักเก็บพลังงาน (energy storage system) สถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV charging station) และพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถบริหารการใช้พลังงานได้อย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกัน สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ยังเป็นพื้นที่นำร่องการใช้ระบบแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่แบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer energy exchange) ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) หรือการใช้เทคโนโลยีอื่นๆ อีกด้วยในอนาคต ซึ่งความร่วมมือกับ จีอี ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานระดับโลกจะช่วยสร้างให้เกิดแพลตฟอร์มทางพลังงานที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบของ จีอี และระบบไฟฟ้าอื่นๆ ได้อย่างดี ซึ่งในอนาคตจะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกราย

Avatar photo