General

รู้ทัน! ‘บัตรทอง – ประกันสังคม’ ทางเลือกของประชาชน

ในภาวะที่ค่ารักษาพยาบาลพุ่งสูงขึ้น คนวัยทำงานมักจะไม่กังวลในจุดนี้มากนัก เพราะส่วนใหญ่จะมีสวัสดิการด้านรักษาพยาบาลของบริษัท และยังมีสิทธิ์การรักษาพยาบาลของประกันสังคม แต่เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลที่เคยได้รับจากบริษัทอาจหมดไป แต่สำหรับสิทธิรักษาพยาบาลจากประกันสังคมนั้น เรายังมีทางเลือกที่จะยกเลิกหรือเก็บสิทธิรักษาพยาบาลจากประกันสังคมได้

ผู้สูงอายุ
หากลาออก หรือ สิ้นสุดสมาชิกภาพตามประกันสังคมมาตรา 33 ก็จะหมดสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม ซึ่งรวมถึงสิทธิการรักษาพยาบาล แต่ผู้ประกันตนจะได้รับบำนาญชราภาพ หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาเกิน 15 ปี (180 เดือน) และในส่วนของการรักษาพยาบาล ก็สามารถไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลจากบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ได้

หากคงสถานภาพสมาชิกประกันสังคม ก็ต้องเลือกที่จะส่งต่อประกันสังคมมาตรา 39 ภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ลาออกจากงาน โดยในกรณีนี้ ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบจำนวน 432 บาทต่อเดือน (9% บนฐานเงินเดือนที่ใช้คำนวณเงินสมทบที่ 4,800 บาท) ซึ่งในกรณีนี้ ผู้ประกันตนจะยังคงสิทธิรักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิประโยชน์ตามประกันสังคมอื่น ๆ (ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และเสียชีวิต)

สำหรับสิทธิการรักษาพยาบาลนั้น ผู้ประกันตนภายใต้สิทธิประกันสังคม สามารถใช้บริการโรงพยาบาลคู่สัญญาที่ตนเลือกไว้ ส่วนบัตรทองจะเป็นการใช้บริการโรงพยาบาลในชุมชน หรือศูนย์สาธารณสุขที่ร่วมโครงการและอยู่ในพื้นที่ที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น ในกรณีหากโรงพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือเป็นโรคซับซ้อน ก็สามารถส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเจาะจงได้

แต่ประกันสังคมไม่ครอบคลุมถึงการปลูกถ่ายไขกระดูก กรณีเป็นมะเร็งชนิดที่ประกันสังคมกำหนดไว้ และไม่ครอบคลุมการปลูกถ่ายไต หากผู้ประกันตนป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังมาก่อน ส่วนบัตรทองให้ความคุ้มครอง ประกันสังคมให้สิทธิถอนฟัน อุดฟัน ขุดหินปูนได้ไม่เกิน 900 บาท/ปี ส่วนบัตรทองสามารถใช้บริการได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่มีวงเงิน

หากต้องรักษาตัวแบบพักฟื้น หลังผู้ป่วยกลับบ้าน และการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายหลังสิ้นสุดการรักษา ประกันสังคมจะไม่คุ้มครอง แต่บัตรทองให้ความคุ้มครอง และขยายการให้บริการที่ครอบคลุมทั้งในและนอกโรงพยาบาล ขณะที่ประกันสังคมใช้ยาได้ทั้งในและนอกบัญชีหลักแห่งชาติ ส่วนบัตรทองสามารถใช้ยาที่มีอยู่ในบัญชีหลักแห่งชาติ ส่วนยานอกบัญชียาหลักนั้น จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ รวมทั้งกรณีที่ผู้ป่วยยอมจ่ายเงินเอง

จะเห็นได้ว่า สิทธิการรักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ไม่ได้ด้อยไปกว่าสิทธิรักษาพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม ดังนั้น การเลือกใช้สิทธิรักษาพยาบาลจากบัตรทอง น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการส่งต่อประกันสังคมตามมาตรา 39

ขอบคุณข้อมูลจาก k-expert

Avatar photo