Business

อีไอซีประเมินความท้าทายของรัฐบาลใหม่จากขั้วเดิม แนะ 4 นโยบายเร่งด่วน

อีไอซี แนะนโยบายสำคัญ 4 ด้าน พิสูจน์ฝีมือรัฐบาลใหม่ ช่วยภาคธุรกิจที่เดือดร้อนควบคู่กระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งเบิกจ่ายเมกะโปรเจ็กต์ ปฏิรูปการศึกษา และเพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอี

หลังจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับมติจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ และเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีจากขั้วการเมืองเดิมก่อนการเลือกตั้ง ส่งผลให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลงได้บางส่วน เนื่องจากเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเข้ามาบริหารประเทศในไม่ช้า จึงมีแนวโน้มส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นอย่างน้อยในระยะสั้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 1

นอกจากนี้ การที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่มาจากขั้วการเมืองเดิมก่อนการเลือกตั้ง ก็มีโอกาสทำให้การสานต่อนโยบายมีความต่อเนื่องมากขึ้น โดยนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ หรือเมกะโปรเจ็กต์ ที่เน้นลงทุนด้านระบบขนส่งทั้งระบบถนน ระบบราง ท่าเรือ และอากาศยาน รวมถึงโครงการสร้างและพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซี ที่จะเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าสถานการณ์ทางการเมืองของไทยก็ยังมีความท้าทายอยู่อีกหลายประการ ได้แก่ การที่เสียง ส.ส. ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมีจำนวนใกล้เคียงกัน ซึ่งอาจจะทำให้การผลักดันนโยบายหรือการผ่านร่างกฎหมายของฝ่ายรัฐบาลมีความยากลำบาก อีกทั้งการที่ฝ่ายรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรคการเมือง ก็อาจทำให้การประสานผลประโยชน์ระหว่างพรรคทำได้ยาก จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลอาจไม่มั่นคงในระยะข้างหน้า

ขณะที่การประสานแนวนโยบายต่าง ๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลก็จะเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญ เนื่องจากแต่ละพรรคมีนโยบายที่ต่างกันในช่วงการรณรงค์หาเสียง หรือในบางนโยบาย แม้ว่าจะมีจุดประสงค์คล้ายกัน แต่วิธีการในการดำเนินนโยบายก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นการคัดเลือกและประสานผลประโยชน์ของนโยบายจากหลายพรรคจึงไม่ใช่งานที่ง่าย อีกทั้งยังมีความท้าทายในมิติของความเป็นไปได้ในการจัดสรรงบประมาณอีกด้วย เนื่องจากหลายมาตรการของหลายพรรคการเมืองเป็นนโยบายที่ต้องอาศัยวงเงินงบประมาณขนาดใหญ่และมีแนวโน้มจะเป็นงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง เช่น การประกันราคาสินค้าเกษตรหรือประกันรายได้เกษตรกร การให้เงินมารดาที่ตั้งครรภ์ การให้เงินดูแลเด็ก และโครงการบ้านล้านหลัง เป็นต้น รวมถึงนโยบายเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรงที่อาจเพิ่มต้นทุนของผู้ประกอบการโดยตรง ซึ่งอาจทำให้หลายบริษัทไม่สามารถปรับตัวได้ทันและจำเป็นต้องปิดกิจการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี

SCB

ทั้งนี้ อีไอซีประเมินแนวนโยบายสำคัญที่รัฐบาลใหม่อาจพิจารณาดำเนินการได้ มีดังนี้

1. หากรัฐบาลใหม่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ควรเป็นนโยบายที่ผสมผสานระหว่างการช่วยเหลือผู้ที่กำลังประสบปัญหาและการกระตุ้นการใช้จ่ายในภาพรวม เช่น ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออก ภาคการท่องเที่ยวที่มีรายรับจากนักท่องเที่ยวลดลง และยังรวมถึงภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงติดลบต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังควรจัดทำนโยบายที่สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายในภาพรวม เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจภายในประเทศหลังจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก โดยควรเป็นมาตรการที่สามารถอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วและมีผลทวีคูณทางเศรษฐกิจในระดับสูง แต่จะต้องไม่มีผลผูกพันในระยะยาว และไม่ควรมีการบิดเบือนกลไกตลาดมากเกินไปจนก่อให้เกิดความเสี่ยง

2. รัฐบาลใหม่ควรเร่งรัดการเบิกจ่ายด้านก่อสร้างโครงสร้างเมกะโปรเจ็กต์ให้เป็นไปตามแผน ทั้งโปรเจกต์ที่กำลังดำเนินการและโปรเจกต์ในแผนงานที่ยังไม่ได้มีการประมูล เนื่องจากจะมีผลดีในระยะสั้นผ่านการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี รวมถึงการเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้า นอกจากนี้ ยังมีผลดีในระยะยาวด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและทันสมัย และยังมีแนวโน้มช่วยกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ในส่วนอื่น ๆ ของประเทศ

ด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตอีอีซี ก็ควรมีการจัดทำตามแผนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงควรมีการผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงของภาคเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะการดึงดูดบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกที่เข้าข่ายเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยให้มาลงทุนในพื้นที่มากขึ้น และยังอาจใช้ประโยชน์จากภาวะสงครามการค้าในการเชิญชวนบริษัทชั้นนำที่มีฐานการผลิตในประเทศจีนให้ย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทยเพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าได้อีกด้วย

SCB1

3. ปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพและเพิ่มความสามารถของแรงงานในปัจจุบัน เนื่องจากในปัจจุบันสังคมไทยมีกำลังแรงงานลดลง ขณะที่ มีประชากรวัยชรามากขึ้น ดังนั้นหนึ่งในทางออกที่ยั่งยืนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะต่อไป ก็คือการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) โดยภาครัฐและมหาวิทยาลัยจะต้องร่วมมือกันวางแผนผลิตนักศึกษาในสายที่เป็นที่ต้องการมากขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐยังควรมีการสนับสนุนสร้างทักษะแรงงานผ่านการศึกษาแบบ lifelong learning เนื่องจากในปัจจุบัน วิทยาการต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นที่แรงงานจะต้องได้รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

4. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ เอสเอ็มอี เนื่องจากปัจจุบันความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีลดลง เมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้นรัฐบาลใหม่จึงควรมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs เนื่องจากเป็นภาคธุรกิจที่มีการจ้างงานในระดับสูง โดยควรพิจารณาส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีแก่เอสเอ็มอี เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และมีการส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม ลดการกระจุกตัวของตลาด โดยเฉพาะส่วนที่เกิดจากการเอื้อประโยชน์โดยรัฐหรือการแข่งขันโดยรัฐเอง รวมถึงการให้ความรู้ทางการเงินในการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีอีกด้วย

Avatar photo