COLUMNISTS

‘พล.อ.เปรม’ จากไปมีคนจดจำ

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
6552

มีผู้กล่าวเชิดชู พล.อ.เปรม  ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี ผู้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเช้าของวันที่   26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ด้วยวัย 99 ปี  ในแง่มุมต่างๆไว้มากมาย โดยเฉพาะผลงานช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2523 -2529 สมัย) ที่พล.อ.เปรมได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้นำประเทศไทยออกจากวิกฤติสงครามกลางเมือง จากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และเปลี่ยนสถานะประเทศ จากเศรษฐกิจติดลบมาสู่ความโชติช่วงชัชวาล

61296426 1226318620875296 2479643907432906752 o
ภาพ : นิติกร กรัยวิเชียร, เฟซบุ๊กเพจ เรารัก “ป๋า” พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ช่วงเวลา 8 ปี 5 เดือนโดยประมาณในฐานะนายกรัฐมนตรี รัฐบาลเปรมถูกระหนาบทั้งวิกฤติการเมือง และเศรษฐกิจ 

เร่งยุติสงคราม ระหว่างคอมมิวนิสต์กับรัฐ หรือไทยรบไทย ที่ดำเนินต่อเนื่องมาหลายปี คือความตั้งใจแรกๆ ของพล.อ.เปรม   

ไม่กี่เดือนหลังนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในเดือนมีนาคม 2523  พล.อ.เปรมออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี เลขที่ 66/2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ โดยเน้นการเมืองนำการทหาร เพื่อยุติสถานการณ์สงครามปฏิวัติของคอมมิวนิสต์

นายแพทย์เหวง  โตจิราการ อดีตสหายคนหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊กบอกกล่าวบางแง่มุมของพล.อ.เปรมไว้ว่า  พล.อ.เปรม มีคุณงามความดีต่อแผ่นดินหลายประการ  โดยการยุติสงครามกลางเมืองที่สู้รบกันมาอย่างยาวนาน ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ 2508 กับรัฐบาลไทย ยุติได้สิ้นเชิงประมาณปี 2528  รวม 20 ปี ด้วยคำสั่งนายกรัฐมนตรี66/2523 …………..

“……แล้วทำให้ทหารป่าคืนเมืองและเกิดสถานการณ์ป่าแตกในที่สุด ถ้าไม่มีนายกฯ ชื่อพล.อ.เปรมจะนำความปรองดอง สมานฉันท์ และสันติสุข คืนมาสู่ประเทศไทยและระหว่างประชาชนไทยได้สงบเรียบร้อนราบรื่นเช่นนี้หรือ”   นายแพทย์เหวงโพสต์ไว้ตอนหนึ่ง

ด้านเศรษฐกิจ พล.อ.เปรม มี สมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีคลังคู่ใจ เสนาะ อูนากุล เป็นเลขาฯ สภาพัฒน์ฯ และคณะที่ปรึกษา ดร.วีระพงษ์ รามางกูร เป็นหนึ่งในนั้น และเป็นผู้ทำหน้าที่สื่อสารประเด็นทางเศรษฐกิจระหว่าง พล.อ.เปรม กับสมหมาย รัฐมนตรีคลัง

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยเวลานั้น  ถูกรุมเร้าจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน  ด้านหนึ่งมาจากวิกฤติน้ำมัน ครั้งที่ 2 ชาวบ้านมีปัญหาค่าครองชีพ  เสถียรภาพเศรษฐกิจง่อนแง่น  ประเทศขาดดุลการค้า  ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง การคลังง่อนแง่น และยังได้รับผลจากวิกฤติสถาบันการเงินจากพิษราชาเงินทุน แถมด้วยวิกฤติแชร์ชม้อยที่ดูดเงินออกจากระบบ สร้างความปั่นป่วนให้ระบบการเงินเป็นอย่างยิ่ง 

“ ….การขาดเสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดรุนแรงสุดในปี 2526  เมื่อการขาดทุนบัญชีเดินสะพัดมีค่าสูงถึงร้อยละ 7 ของรายได้ประชาชาติ มูลค่าเงินสำรองของทางการลดเหลือเพียงเท่ากับมูลค่าการนำเข้าสินค้า 3 เดือน และหนี้ต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”  (50ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย 2485 -2535)

สถานะเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลานั้นเหมือนบริษัทที่ต้องเข้าแผนฟื้นฟู  แบงก์ชาติต้องประกาศลดค่าเงินบาท ครั้ง ในปี 2524 และปี 2527 รัฐบาลต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)   และธนาคารโลก มาหนุนเสถียรภาพ และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ 

วิกฤติสถาบันการเงินรุนแรงอย่างถึงที่สุดแบงก์หลายแห่งถูกยุบควบรวม แบงก์ชาติต้องออกโครงการทรัสต์ 4 เมษา ฯ มาป้องกัน ไฟแนนซ์ล้ม

การตัดสินใจลดค่าเงินบาทครั้งที่ 2  มีผู้เสียผลประโยชน์ และนำพล.อ.เปรมไปสู่การเผชิญหน้ากับบิ๊กทหารเวลานั้น เมื่อ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบก ขณะนั้นออกทีวี เรียกร้องให้รัฐบาลปรับค่าเงินบาทให้มาอยู่ที่เดิม ทำเอาบรรยากาศคืนวันลอยกระทงปีนั้นกร่อยไปถนัด  แต่พล.อ.เปรมยืนกราน

ปี 2528 พันเอกมนูญ รูปขจร ทำรัฐประหารพล.อ.เปรม แต่ล้มเหลว นับเป็นครั้งที่สอง หลังกลุ่มยังเติร์ก พยายามรัฐประหารพล.อ.เปรม  ในปี 2524 ( เมษาฮาวาย)   

 ปี 2529 พล.อ.อาทิตย์ ถูกปรับตำแหน่งเหลือตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดตำแหน่งเดียว จากเดิมนั่งควบกับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก สมญาที่สื่อมวลชนเรียกพล.อ.เปรมว่า นักฆ่าแห่งลุ่มเจ้าพระยา เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และปีเดียวกันนั้นปัญหาเศรษฐกิจเริ่มคลี่คลาย  ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกครั้งแรกในรอบหลายปี

ช่วงรัฐบาลเปรมรับมือกับคลื่นเศรษฐกิจ การเมือง และความพยามยามในการทำรัฐประหารนั้น ปี  2524 พล.อ.เปรม กดปุ่มนับหนึ่งโครงการอีสต์เทิร์นซีบอร์ด ซึ่งกลายเป็นแม่เหล็กดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และขุมพลังทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงหลายทศวรรษต่อมา

ในปี 2531 ที่พล.อ.เปรม บอก “ผมขอพอ” กับ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เป็นนายกฯ คนต่อมานั้น เศรษฐกิจขยายตัว 13.2 %  ( ปี 2532 ขยายตัว 12 % และ ขยายตัว 10% ในปี 2533)

แม้ช่วงเวลาของรัฐบาลเปรมถูกเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือกล่าวในเชิงเสียดสีว่า เปรมาธิปไตย หากคุณูปการจากนโยบายที่ขับเคลื่อนช่วง 8 ปี 5 เดือน ของรัฐบาลเปรมภายใต้การนำของพล.อ.เปรม  ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ยังส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน    

พล.อ.เปรม จากไปแล้ว แต่เรื่องราวของบุรุษผู้อุทิศตัวเพื่อชาติ และสถาบัน ด้วยอุดมการณ์ “เกิดมาต้องแทนคุณแผ่นดิน” ยังเป็นที่ถูกจดจำ