PR News

แพทย์และวิศวกรไทยร่วมวิจัย ‘กระดูกขากรรไกรไทเทเนียม’ ดันเป็นสินค้าส่งออก

แพทย์-วิศวกรไทยร่วมวิจัย “กระดูกขากรรไกรไทเทเนียม” ช่วยลดการผ่าตัดซ้ำ ดันเป็นสินค้าส่งออกต่อเนื่อง

ผศ.นพ.ไพบูลย์ สุรีย์พงษ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช 1
ผศ.นพ.ไพบูลย์ สุรีย์พงษ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช

ผศ.นพ.ไพบูลย์ สุรีย์พงษ์ อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หัวหน้าสาขาวิชาโรคกล่องเสียง หลอดลม ศีรษะและคอ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยหลายร้อยรายทั่วประเทศ ที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธี “ศัลยกรรมกระดูกขากรรไกร” ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากเนื้องอกหรือมะเร็งบริเวณใบหน้า ช่องปาก และลำคอ ที่กัดกินลึกลงไปถึงเนื้อ

สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาด้วยวิธีนี้ คือการทำให้ผู้ป่วยที่ต้องทุกข์ทรมานจากการสูญเสียกระดูกบางส่วนหรือต้องตัดกระดูกกรามล่างออกไปทั้งหมด กลับมามีใบหน้าที่ปกติอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจทำงานได้ปกติ อ้าปาก หรือเคี้ยวอาหารได้คล่องขึ้น

พิธีลงนามความร่วมมือวิจัย 4
กระดูกขากรรไกรไทเทเนียม

โดยการรักษาที่ผ่านมา หลังจากผ่าตัดส่วนที่เสียหายออกไปแล้ว ก็จะใช้วิธีย้ายกระดูกจากส่วนอื่นในร่างกาย ร่วมด้วยวัสดุทดแทนกระดูก ซึ่งการผ่าตัดแต่ละครั้งกินเวลายาวนาน ต้องใช้ทีมแพทย์ถึง 2 ทีม วัสดุทดแทนกระดูกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แพทย์ก็ต้องเหลาหรือขัดเกลาให้ให้พอดี จึงจำเป็นต้องมีการผ่าตัดเพื่อปรับปรุงแก้ไขอีกอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดครั้งแรกจะอยู่ที่ราว 100,000 – 200,000 บาท แม้ว่าผู้ป่วยจะสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้ แต่สิ่งที่ไม่อาจเลี่ยงได้คือการต้อง “ผ่าตัดซ้ำ” ซึ่งนำมาสู่การต้องฟื้นฟูหลังผ่าตัดซ้ำๆ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน

ปัญหาดังกล่าวนำมาสู่ “ความร่วมมือวิจัยนวัตกรรมชุดเครื่องมือศัลยกรรมกระดูกขากรรไกร” อันผสานความรู้ทางวิศวกรรมและการแพทย์เข้าด้วยกัน ใช้การออกแบบจากคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติที่แม่นยำกับใบหน้า และวัสดุไทเทเนียมที่มีความปลอดภัยสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

พิธีลงนามความร่วมมือวิจัย 2

ผศ.ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน จากภาควิชาโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมมือกับแพทย์เพื่อวิจัยเครื่องมือศัลยกรรมกระดูกขากรรไกร จนในที่สุดได้นำผลการวิจัยไปใช้ในการรักษาและประสบความสำเร็จตั้งแต่การผ่าตัดครั้งแรก

การวิจัยดังกล่าวได้นำมาสู่การก่อตั้ง บริษัท เมติคูลี่ จำกัด สตาร์ทอัพจากรั้ววิศวะ จุฬาฯ เพราะมองเห็นว่านวัตกรรมนี้จะมีความยั่งยืน ก็ต่อเมื่อมีการใช้อย่างแพร่หลายและสร้างรายได้หมุนเวียน โดยท้ายที่สุดแล้วต้องทำให้คนไทยเข้าถึงกระดูกไทเทเนียมที่มีคุณภาพสูง ที่ได้รับการรับรองในระดับสากล แตกต่างจากผลิตภัณฑ์นำเข้าที่ใช้กันในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันบริษัท เมติคูลี่ จะนำนวัตกรรมนี้ไปต่อยอดในเชิงธุรกิจ ให้กลายเป็นสินค้านวัตกรรมเรือธงจากประเทศไทย ที่สามารถส่งออกไปสู่ประเทศอื่นๆ ได้ด้วย

พิธีลงนามความร่วมมือวิจัย 3

“ที่ผ่านมามีการศึกษานวัตกรรมนี้อย่างจริงจัง ประกอบกับการตรวจสอบมาตรฐานในหลายๆ มาตรฐาน และการรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้ จนมั่นใจว่าการรักษาด้วยกระดูกไทเทเนียมนี้จะส่งผลดีในทุกๆ ด้าน ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยกระดูกไทเทเนียมนี้นับร้อยเคส ในหลายๆ ส่วนของร่างกาย โดยพบว่าจำนวนครั้งของการผ่าตัดซ้ำลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และมีการติดตามผลการรักษาต่อเนื่อง” ผศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า

 

Avatar photo