Business

รถไฟฟ้า 10 เส้นทางแจ้งเกิดเมืองใหม่รอบกทม.

Chaiwat1
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)กล่าวว่าขณะนี้ สนข.กำลังเตรียมทำแผนขยายเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มเติมจาก 10 เส้นทาง 464 กม.ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยคาดว่าจะเพิ่มส่วนต่อขยายเส้นทางอีก 7 สายรวมระยะทาง 85.9 กม. นำเสนอสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้  ซึ่งจะเป็นการพัฒนาต่อเนื่องที่ทำให้การเดินทางเชื่อมต่อเมืองในกรุงเทพฯชั้นใน และพื้นที่ปริมณฑลสะดวกยิ่งขึ้น โดยส่วนต่อขยายทั้ง 7 เส้นทางประกอบด้วย

Train New7

  • สายสีแดงเข้ม รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ 8.9 กม.
  • สายสีแดงอ่อน ตลิ่งชัน-ศิริราช, ตลิ่งชัน-ศาลายา 19.5 กม.
  • สายสีน้ำเงิน บางแค-พุทธมนฑล สาย4 ระยะทาง 8 กม.
  • สายสีส้มตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ 13.4 กม.
  • สายสีเขียวเข้ม คูคต-ลำลูกกา  6.5 กม.
  • สายสีเขียวเข้ม สมุทรปราการ-บางปู 9.5 กม.
  • แอร์พอร์ตเรลลิงค์ พญาไท-สนามบินดอนเมือง 21.8 กม.

นอกจากเส้นทางรถไฟฟ้า 5 สายที่เปิดบริการในปัจจุบัน รถไฟฟ้าตามแผนแม่บท 10 เส้นทางได้ดำเนินการก่อสร้าง และมีกำหนดเวลาเปิดบริการแน่นอนแล้ว ประกอบด้วย

  • สายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ จะเปิดให้บริการในปีนี้ 2561
  • สายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ, หัวลำโพง-บางแค  จะเปิดบริการในปี 2562
  • สายสีเขียว คูคต-หมอชิต จะเปิดบริการในปี 2563
  • สายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน จะเปิดบริการในปี 2563
  • สายสีชมพู สีเหลือง จะเปิดบริการในปี 2564
  • สายสีแดง ตลิ่งชัน-ศิริราช, รังสิต-ธรรมศาสตร์, ตลิ่งชัน-ศาลายา จะเปิดบริการในปี 2565
  • สายสีน้ำเงิน บางแค-พุทธมณฑลสาย4 จะเปิดบริการในปี 2566
  • สายสีเขียวเหนือ คูคต-ลำลูกกา  จะเปิดบริการในปี 2566
  • สายสีเขียวใต้ สมุทรปราการ-บางปู จะเปิดให้บริการในปี 2566
  • สายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ จะเปิดบริการในปี 2567
  • สายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนท์ จะเปิดบริการในปี 2568

ในปี 2568 รถไฟฟ้าทั้ง 10 เส้นทางตามแผนแม่บทจะพร้อมเปิดให้บริการ ซึ่งจะรองรับความต้องการใช้รถไฟฟ้าของประชาชนได้ 5 ล้านคน/วัน จากจุดให้บริการ 312 สถานี ซึ่งเป็นโอกาสให้นักพัฒนาที่ดิน ได้วางแผนพัฒนาพื้นที่ซึ่งครอบคลุม 680 ตารางกม.

เมืองบริวารตามเส้นทางรถไฟฟ้ารอบกรุงเทพฯ 0

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่าตามแผนแม่บทการขนส่งและจราจรนี้ ต้องการให้รถไฟฟ้าเป็นกลไกสำคัญการพัฒนาพื้นที่เมือง เพราะรถไฟฟ้าจะเชื่อมต่อพื้นที่ และสร้างให้เกิดการพัฒนาเมืองใหม่ในบริเวณสถานีต่างๆ ได้เช่นเดียวกับการมีมหาวิทยาลัยแล้วสร้างให้เกิดเมืองเช่น เมืองศาลายา ที่เกิดจากมหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน ส่วนในอนาคตรถไฟฟ้าที่นำไปสู่พื้นที่ใหม่ ก็จะสร้างให้เกิดเมืองใหม่ๆ โดยรอบกรุงเทพฯ เช่น เมืองสมุทรปราการ เมืองคูคต เมืองบางใหญ่ เมืองรังสิต เมืองตลิ่งชัน เป็นต้น

Avatar photo