Business

‘การบินไทย’ เตรียมเปิดตัวธุรกิจอีคอมเมิร์ซหวังฟันกำไรเพิ่มปีละ 500 ล้านบาท

“การบินไทย” หวังเทียบชั้น “อเมซอน” เตรียมเปิดตัวธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ขายตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ เจาะกลุ่มลูกค้าทั่วโลก หารายได้เสริม หวังฟันกำไรปีละ 500 ล้านบาท

1 2 Copy
สุเมธ ดำรงชัยธรรม

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว การบินไทยมีนโยบายจะรักษาอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ไว้ที่ 80% เพื่อหารายได้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed cost)

การบินไทยจึงวางแผนจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการขายจำนวน 4 แคมเปญ ได้แก่ 1. Youth Fare ค่าโดยสารราคาพิเศษสำหรับกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน, 2. Carnival of Travel ใช้เงินและไมล์สะสมที่น้อยลงในการแลกตั๋วเครื่องบิน เน้นกลุ่มที่มีไมล์สะสมประมาณ 10,000 ไมล์, 3. ตลาดท่องเที่ยวเมืองรอง และ 4. Asean Connect ค่าโดยสารราคาพิเศษสำหรับการเดินทางในประเทศอาเซียน เพื่อรองรับการประชุมอาเซียนซัมมิทในประเทศไทยช่วงปลายปี 2562

การบินไทย 6

นายสุเมธกล่าวต่อว่า การบินไทยยังมุ่งหารายได้เสริมนอกเหนือจากการจำหน่ายบัตรโดยสาร โดยในเดือนสิงหาคม-กันยายน การบินไทยจะเปิดตัวธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ด้วยการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ได้แก่ แอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ของการบินไทย

ทั้งนี้ การบินไทยจะทำหน้าที่เป็นช่องทางจัดจำหน่ายเท่านั้น (Market place) ส่วนการจัดหาสินค้า บริหารระบบ และโลจิสต์ติก จะเป็นหน้าที่ของผู้จัดจำหน่ายสินค้าที่มีความเชี่ยวชาญ (Vendor) โดยการบินไทยจะได้รับส่วนแบ่งจากรายได้จากผู้จัดจำหน่ายสินค้า

สำหรับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจะเป็นบุคคลทั่วไปและผู้โดยสารของการบินไทยทั่วโลก ไม่ได้จำกัดแค่ประเทศไทย ซึ่งโมเดลนี้ก็คล้ายกับอเมซอน (Amazon) ที่เป็นอีคอมเมิร์ซชั้นนำและมีลูกค้าอยู่ทั่วโลก

การบินไทยถ่ายทอดสด

ด้านสินค้าที่นำมาจัดจำหน่าย ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มน้ำหอม เครื่องประดับ ฯลฯ เหมือนเดิม แต่จะมีสินค้าประเภทใหม่ๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เตาอบ เตารีด หรือสินค้าประเภทอื่นๆ ที่ลูกค้าต้องการและขายได้ แต่ก็ต้องเหมาะกับลูกค้าและแบรนด์การบินไทยด้วย

ขณะเดียวกันก็จะเปิดโอกาสให้ลูกค้านำคะแนนสะสมจากบัตรเครดิต มาแลกเป็นไมล์สะสม เพื่อแลกเป็นสินค้าที่จัดจำหน่ายในช่องทางอีคอมเมิร์ซได้ด้วย ซึ่งก็จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อคู่ค้าของการบินไทย

“การบินไทยมีลูกค้า 20 ล้านคนต่อปี ครึ่งหนึ่งเป็นคนไทย อีกครึ่งเป็นคนต่างชาติ มีเที่ยวบินวันละเป็นร้อยเที่ยวบิน ถ้าหากมีผู้โดยสารจำนวนหนึ่งซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซก็ ช่วยสร้างกำไรให้การบินไทย ซึ่ง Margin จากธุรกิจนี้ไม่ต้องเยอะ เพราะไม่มีต้นทุน โดยในการเปิดตัวปีนี้ ตั้งเป้าว่าจะสร้างกำไรมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปีและมีโอกาสขยับเป็น 500 ล้านบาทต่อปีในอนาคต” นายสุเมธกล่าว

นอกจากนี้ การบินไทยยังพยายามเพิ่มรายได้จากธุรกิจครัวการบินไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีกำไรจากธุรกิจครัวการบินเพิ่มขึ้น 70 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ การบินไทยจะใช้กลยุทธ์หาพันธมิตรและเน้นรับจ้างผลิต (OEM) เพื่อเพิ่มรายได้และควบคุมค่าใช้จ่ายให้กับธุรกิจครัวการบิน ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในไตรมาส 1 ปี 2563

DSC 2441

นายวิวัฒน์ ปิยะวิโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซว่า การบินไทยอยู่ระหว่างหารือกับผู้จัดจำหน่ายสินค้าอีคอมเมิร์ซที่มีความเชี่ยวชาญจำนวน 2 ราย ซึ่งต่างเป็นผู้บริหารธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้กับสายการบินขนาดใหญ่ เช่น ลุฟท์ฮันซา ควอนตัส เพื่อคัดเลือกพันธมิตรเพียง 1 ราย

เบื้องต้นการคัดเลือกจะทราบผลประมาณปลายเดือนนี้และจะใช้เวลาลงทุนอีก 120 วัน จึงเปิดให้บริการได้ภายในเดือนกันยาน 2562 โดยเฟสที่ 1 จะพัฒนาช่องทางการจำหน่ายผ่านแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ก่อน จากนั้นในเฟสที่ 2 ปี 2563 จะพัฒนาช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าผ่านหน้าจอสัมผัสบนเครื่องบินด้วย

สำหรับสินค้าที่จัดจำหน่ายก็จะมีหลายร้อยรายการ โดยเมื่อทราบพฤติกรรมผู้บริโภคแล้วก็จะทำให้สามารถกำหนดประเภทสินค้าได้ดียิ่งขึ้น เช่น ใครจะคิดว่าบางสายการบินสามารถจัดจำหน่ายเครื่องตัดหญ้าได้ดีที่ประเทศเยอรมนี เป็นต้น สำหรับลูกค้าหลักของการบินไทยนั้นก็จะมีอายุระหว่าง 40-50 ปีและรายได้ 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ

Avatar photo