Economics

อึ้ง!! ‘โครงการโฮปเวลล์’ ไร้ผลศึกษาความเหมาะสม ‘บิ๊กตู่’ กำชับตามแก้ต้องรอบคอบ!

อึ้ง!! “โครงการโฮปเวลล์” ผ่าน ครม. โดยไม่มีผลศึกษาความเหมาะสม คมนาคมดัน 5 แนวทางเร่งจ่าย “ค่าโง่” ควานหาตัวคนผิด ด้าน “บิ๊กตู่” กำชับต้องทำให้รอบคอบ

DSC 0593
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) จ่ายค่าชดเชยแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จากการบอกเลิกสัญญาโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับรวมเป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับตั้งแต่คดีสิ้นสุดนั้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ (30 เม.ย.) กระทรวงคมนาคมได้รายงานรายละเอียดของคดีโฮปเวลล์ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบและนำเสนอแนวทางในการดำเนินการตามคำพิพากษา โดยการรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคมได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วว่าจะดำเนินการ 5 ข้อ ดังนี้

  1. คำนวณวงเงินค่าเสียหายให้ชัดเจน โดยขอให้ศาลปกครองสูงสุดช่วยระบุวงเงินค่าชดเชยให้ชัดเจน และขณะนี้การรถไฟฯ ก็ได้ส่งหนังสือถึงสำนักงานคดีปกครองเพื่อตรวจสอบวงเงินดังกล่าวแล้ว
  2. เปิดเจรจากับโฮปเวลล์ เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลและลดผลกระทบต่อภาครัฐ
  3. กำหนดแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม
  4. แต่งตั้งคณะทำงานจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม, การรถไฟฯ, กรมบัญชีกลาง,สำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)เพื่อพิจารณาตามข้อ 1 , 2 และ 3 รวมถึงดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และเป็นประโยชน์ต่อรัฐ
  5. กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการสอบความรับผิดทางละเมิด เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยต้องไปพิจารณาว่าโครงการมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ใครที่เกี่ยวข้องและต้องมีส่วนในการรับผิดบ้าง ตั้งแต่การเสนอโครงการ เริ่มต้นสัญญา จนถึงบอกเลิกสัญญา

สำหรับโครงการนี้ถือว่าค่อนข้างประหลาด เพราะกระทรวงคมนาคมได้ลงนามในสัญญาด้วย จึงต้องกลับไปพิจารณาว่า ทำไมกระทรวงคมนาคมจะต้องเข้าไปร่วมลงนามกับการรถไฟฯ และเอกชน

“นายกฯ ได้กำชับให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าคณะทำงานจะสรุปได้ตัวเลขค่าชดเชย แนวทางการจ่ายเงิน แหล่งเงิน สรุปเพื่อเสนอ ครม. ได้เมื่อไหร่ แต่ก็คงต้องรีบ เพราะศาลกำหนดให้จ่ายภายใน180 วัน” นายอาคมกล่าว

โฮปเวลล์11

โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ปี 2532  ไม่ได้เริ่มต้นในรัฐบาลชุดนี้ โดยรัฐบาลชุดนี้เข้ามาแก้ปัญหาเท่านั้น ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าโครงการนี้ไม่ได้มีการศึกษาความเหมาะสมในการดำเนินโครงการ เพราะรัฐบาลในขณะนั้นต้องการเร่งแก้ไขปัญหาจราจรในช่วงการจัดงานเอเชียนเกมส์ แตกต่างจากโครงการอื่นๆ ที่ต้องมีการศึกษาความเหมาะสมก่อน

ครม. ได้อนุมัติหลักการให้ดำเนินโครงการถนนและรถไฟยกระดับเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2532  มูลค่าการลงทุนรวม 7 หมื่นล้านบาท กำหนดระยะเวลาก่อสร้างไว้ 8 ปี อายุสัมปทาน 30 ปี โดยการรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคมได้มีการลงนามในสัญญาร่วมกับโฮปเวล์ โฮลดิ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533  มีการแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ 5 หมื่นล้านบาท โดยโฮปเวลล์ทยอยจ่ายค่าตอนแทนให้การรถไฟฯ แล้ว 7 งวด

หลังจากผ่านไป 6 ปี ผลงานการก่อสร้างคืบหน้าไม่ถึง 10% และไม่เป็นไปตามแผน เพราะใช้วิธีการออกแบบไปก่อสร้างไป (Design and Build)  ส่งผลให้งานล่าช้า ซึ่งที่ผ่านมาการรถไฟฯ ได้ขยายระยะเวลาก่อสร้างให้ตลอด แต่ยังคืบหน้าไม่มากนัก ประกอบกับช่วงปี 2540 ประเทศไทยใกล้เป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ จำเป็นต้องมีถนนและทางรถไฟยกระดับไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตที่เป็นสนามแข่งขัน ดังนั้นรัฐบาลจึงมีมติเมื่อวันที่  30 กันยายน 2540 ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ บอกเลิกสัญญาโฮปเวลล์

โฮปเวลล์
ขอบคุณภาพจาก Googlemaps

นายอาคม กล่าวต่อว่า ในปี 2547 โฮปเวลล์ได้ยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการเรียกร้องค่าเสียหายรวม 5.8 หมื่นล้านบาท ก่อนโฮปเวลล์จะขอแก้ไขทุนทรัพย์ลงเหลือ 2.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งครั้งนั้นอนุญาโตตุลาการชี้ขาดในปี 2548 ให้การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคมจ่ายค่าเสียหายกรณีบอกเลิกสัญญาให้โฮปเวล์ 4 ส่วนคือ 1. ค่าตอบแทน 2,850 ล้านบาท, 2. ค่าธรรมเนียมการในการออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท, 3.ค่าคืนเงินสัญญาค้ำประกันวงเงิน 500 ล้านบาท  และ 4.ให้คืนเงินค่าก่อสร้างต่อม่ออีก 9,000 ล้านบาท บวกอัตราดอกเบี้ย 7.5%  ซึ่งเป็นตัวเลขค่าเสียหายที่น้อยกว่าที่โฮปเวลล์เรียกร้อง

กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ จึงได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งชี้ขาด ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

แต่หลังจากนั้น โฮปเวลล์ได้ยื่นคำร้องต่อต่อศาลปกครองสูงสุดอีกครั้งและสุดท้ายศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่า ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ จ่ายค่าชดเชยโฮปเวลล์ 4 ส่วน คือ 1. ค่าตอบแทน 2,850 ล้านบาท 2. ค่าธรรมเนียมการในการออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท, 3.ค่าคืนเงินสัญญาค้ำประกันวงเงิน 500 ล้านบาท  และ4.ให้คืนเงินค่าก่อสร้าง ต่อม้ออีก 9,000 ล้านบาท บวกอัตราดอกเบี้ย 7.5%

Avatar photo