Business

‘BANPU’ ยุคใหม่ พลิกธุรกิจถ่านหิน สู่ผู้นำพลังงานครบวงจร

หากจะพูดถึงเรื่องถ่านหิน เชื่อว่าชื่อแรกๆ ที่ทุกคนนึกออกคงหนีไม่พ้น บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU เพราะถือเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถ่านหินรายใหญ่ที่มีเหมืองอยู่ทั่วโลก อาทิ จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ออสเตรเลีย, มองโกเลีย, ลาว และไทย

งบการเงินล่าสุดในปี 2561 รายได้จำนวน 123,345 ล้านบาทของ BANPU มีสัดส่วนมาจากธุรกิจถ่านหินถึง 87% ส่วนที่เหลือเป็นธุรกิจไฟฟ้า 6% ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 4% และธุรกิจอื่นๆ อีก 5%

รายได้ BANPU ปี61 01

ขณะเดียวกันเมื่อมองภาพรวมธุรกิจถ่านหินปีล่าสุด แม้จะยังเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 ทั้งแง่รายได้ ปริมาณขาย และราคาถ่าน

ปี 2560  รายได้จากขายถ่านหิน 2,877 ล้านดอลลาร์ ปริมาณขาย 36.64 ล้านตัน และราคาขายเฉลี่ย 86.13 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียต่อตัน

ปี 2561 รายได้จากขายถ่านหิน 3,020 ล้านดอลลาร์ ปริมาณขาย 38.03 ล้านตัน และราคาขายเฉลี่ย 105.22 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียต่อตัน

แต่เหมือนว่า BANPU ไม่ได้คิดแบบนั้น กลับคาดการณ์ว่าเทรนด์ระยะยาวของถ่านหิน อาจไม่สดใสอีกต่อไปแล้ว ด้วยประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและการสนับสนุนของภาครัฐ ทำให้การทำกำไรในธุรกิจนี้คงลำบากขึ้นเรื่อยๆ

พลิกธุรกิจมุ่งสู่พลังงานไฟฟ้าครบวงจร

ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นการประกาศปรับธุรกิจโฉมใหม่ของ BANPU มุ่งเป็นบริษัทพลังงานยั่งยืน ตั้งเป้าหมาย 7 ปี เป็นผู้นำด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ผ่านกลยุทธ์ “Greener & Smarter”

Greener & Smarter คือแผนระยะไกลที่จะหันมาเพิ่มสัดส่วนธุรกิจพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าหมุนเวียน (Renewable) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology)

ส่วนธุรกิจหลักเดิมอย่างถ่านหินก็ไม่ได้ทิ้ง แต่หันมาทำเทรดดิ้ง (ซื้อมา-ขายไป) เพิ่มขึ้น แทนการผลิตถ่านหินออกมาจำนวนมากๆ เหมือนก่อน และผสานระหว่างธุรกิจพลังงานดั้งเดิมกับพลังงานทดแทน เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดไปพร้อมๆ กัน

ธุรกิจไฟฟ้าในมือ BANPU

ปัจจุบันธุรกิจไฟฟ้าที่ BANPU โฟกัส แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ “Energy Generation” ดำเนินงานผ่าน บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP และ “Energy Technology” ดำเนินการผ่านบริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี จำกัด

ธุรกิจ Energy Generation 01

1.ธุรกิจ Energy Generation

มีกำลังผลิตไฟฟ้าราว 2,800 เมกะวัตต์ วางเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตเป็น 4,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 จากโครงการ ดังนี้

– โรงไฟฟ้า BLCP ประเทศไทย

– โรงไฟฟ้าหงสา ประเทศลาว

– โรงไฟฟ้า China CHP ประเทศจีน

– โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในประเทศญี่ปุ่นและจีน

– โรงไฟฟ้าพลังงานลม ในประเทศเวียดนาม

 

2.ธุรกิจ Energy Technology

ต่อยอดธุรกิจพลังงานแนวใหม่ ได้แก่ การพัฒนาโซลาร์รูฟท็อป ลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม ภายใต้แบรนด์ Durapower ร่วมลงทุนธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายใต้แบรนด์ FOMM กับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น และร่วมกับองค์กรต่างๆ ในประเทศวิจัยและพัฒนา “รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า”

บ้านปู

อัดงบก้อนโตลงทุนปี 2562-2563

ขณะที่แผนธุรกิจช่วงปี 2562-2563 บริษัทเตรียมงบลงทุนกว่า 835 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น ลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่สหรัฐฯ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ, ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 65 ล้านดอลลาร์ , ธุรกิจโรงไฟฟ้า Conventional 60 ล้านดอลลาร์ , ธุรกิจถ่านหิน 100 ล้านดอลลาร์ และธุรกิจ Smart Energy อีก 100 ล้านดอลลาร์

นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ BANPU ในการแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เพื่อทดแทนและลบภาพจำธุรกิจถ่านหิน แต่ให้มอง BANPU เป็นผู้เล่นในกลุ่มพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรแทน

อย่างไรก็ดี โจทย์ใหญ่ที่ต้องตอบให้ได้ คือพวกเขาจะเปลี่ยนเงินลงทุนจำนวนมหาศาลนี้ ให้กลายเป็นรายได้กลับเข้ามาบริษัทได้อย่างคุ้มค่าและยั้งยืนแค่ไหน   

บ้านปู2

Avatar photo