Politics

ส่องเก้าอี้สส. 3 พรรค ‘ขาลง’ ใต้ร่มเงารธน.ใหม่

ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ได้สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะกับหลายพรรคการเมือง จากเคยยึดครองในหลายพื้นที่จนสามารถกวาด ส.ส.ได้แบบถล่มทลาย แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สำแดงฤทธิ์เดชออกมา เป็นเหตุให้หลายพรรคมีจำนวน ส.ส. ลดฮวบชนิดน่าใจหาย

โดยเฉพาะที่เห็นเด่นชัดสำหรับพรรคได้รับผลพวงของรัฐธรรมนูญใหม่ คงเป็นใครไม่ได้นอกเสียจากพรรคการเมืองเก่าแก่อย่าง “ประชาธิปัตย์” ซึ่งได้จำนวน ส.ส. ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างไม่น่าเป็นไปได้ เพราะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึงครึ่งร้อยหากเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา

3 พรรค ขาลง

ย้อนหลังกลับไปยังการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 ประชาธิปัตย์ นำโดย “ชวน หลีกภัย” อดีตหัวหน้าพรรค สามารถกวาดเก้าอี้ ส.ส. ไปได้ถึง 129 ที่นั่ง แบ่งเป็นบัญชีรายชื่อ 31 คน แบ่งเขตเลือกตั้ง 98 คน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับพรรคน้องใหม่อย่าง “ไทยรักไทย” ซึ่งอยู่ใต้การนำของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ

ต่อมาการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 ประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” อดีตหัวหน้าพรรค ได้ ส.ส. รวม 96 ที่นั่ง แบ่งเป็นบัญชีรายชื่อ 26 ที่นั่ง และแบบเขตเลือกตั้ง 70 ที่นั่ง โดยสามารถเก็บชัยชนะในพื้นที่ภาคใต้สูงสุดถึง 52 ที่นั่ง ส่วนพื้นที่ กทม. เก็บมาได้เพียง 4 ที่นั่งเท่านั้น และต่อมาในการเลือกตั้ง ปี 2550 ผลัดใบมาเป็น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ทำหน้าที่หัวหน้าพรรค

อภิสิทธิ์113622 e1555235321199
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

สามารถพาองคาพยพสู่สนามเลือกตั้งจนได้ ส.ส. 165 ที่นั่ง โดยแบ่งเป็นแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 132 ที่นั่ง บัญชีรายชื่อ 33 ที่นั่ง แต่ยังครองแชมป์ในพื้นที่ภาคใต้เช่นเดิม ซึ่งกวาดเก้าอี้ ส.ส. ภาคใต้ไปได้ 49 ที่นั่ง สำหรับการเลือกตั้งในปี 2554 แม้จะอยู่ภายใต้การนำของ อภิสิทธิ์ แต่สามารถเก็บ ส.ส. ไปได้เพียง 159 ที่นั่ง โดยระบบแบ่งเขต 115 ที่นั่ง ขณะที่ระบบบัญชีรายชื่อ 44 ที่นั่ง โดยพ่ายแพ้ให้กับ “เพื่อไทย” ภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ

จนมาในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดปี 2562 ที่ยังอยู่ภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ เช่นเดิม แต่การเลือกตั้งที่ใช้ระบบแบบจัดสรรปันส่วนผสม ส่งผลต่อจำนวนเก้าอี้ ส.ส. จากที่เคยได้ รอบนี้เหลือเพียง 52 ที่นั่ง ในระบบเขต 33 ที่นั่ง และบัญชีรายชื่อ 19 ที่นั่ง โดยอยู่ระหว่างรอการรับรองผล ส.ส. อย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ประชาธิปัตย์

 

ต่อมาถือเป็นอีกหนึ่งพรรคเก่าแก่อย่าง “ชาติพัฒนา” โดยมี “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย เข้ามารับไม้ต่อจากพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งพล.อ.ชาติชาย หรือที่รู้จักกันในนาม “น้าชาติ” กับวลีเด็ด “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” แม้จะมีการผ่องถ่ายเปลี่ยนมือกันมาหลายรอบ แต่ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ส่งผลอย่างมาก

แม้จะเป็นพรรคที่มีต้นกำเนิดจากพื้นที่นครราชสีมา ทว่าการเลือกตั้งปี 2562 กลับต้องบอกได้เพียงเสี่ยงสูญพันธุ์ เพราะผลเลือกตั้งที่ปรากฏออกมาสามารถรักษาพื้นที่ไว้ได้เพียงเขตเดียว คือ เขต 2 จากทั้งหมด 14 เขต ภายใต้การคุมบังเหียนของ “เทวัญ ลิปตพัลลภ” หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน

โดยชูพี่ชาย “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” เป็นแคนดิเดตนายกฯในนามพรรค หืดจับเก็บ ส.ส. ระบบเขต ได้ 1 ที่นั่ง และคาดว่าจะมีบัญชีรายชื่ออีก 2 ที่นั่ง รวม  3 ที่นั่ง ซึ่งอยู่ระหว่างรอรับรองผล ส.ส. อย่างเป็นทางการจากกกต.

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าโคราชถือเป็นเป้าหมายการเลือกตั้งของทุกพรรคการเมือง ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีการแข่งขันค่อนข้างดุเดือดพอสมควร แต่หากย้อนดูผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาของชาติพัฒนา ตั้งแต่ปี 2535 ภายใต้การนำของพล.อ.ชาติชาย สามารถกวาดเก้าอี้ส.ส.ได้ถึง 60 ที่นั่ง ส่วนการเลือกตั้งปี 2544 นำโดย “กร ทัพพะรังสี” อดีตหัวหน้าพรรค ได้รับ ส.ส. ไปจำนวน 29 ที่นั่ง โดยแบ่งเป็นบัญชีรายชื่อ 7 คน และแบ่งเขตเลือกตั้ง 22 คน

ชาติพัฒนา

ต่อมาการเลือกตั้งปี 2550 ชาติพัฒนา ได้สังคายนาตัวเองใหม่ด้วยการร่วมกลุ่มการเมืองต่างๆเข้าไว้ด้วยกันเป็น “รวมใจไทยชาติพัฒนา” ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกจากพรรคการเมืองที่เคยมีอยู่แล้ว อาทิ กลุ่ม สุวัจน์ อีกทั้ง การร่วมกลุ่มดังกล่าวยังมีบุคคลสำคัญทางการเมืองหลายคนเข้าร่วม อาทิ ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ดร.พิจิตต รัตตกุล รศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อุทัย พิมพ์ใจชน และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นต้น

โดยมี “วรรณรัตน์ ชาญนุกูล” ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ส่งผลให้พรรคมี ส.ส. 9 ที่นั่ง โดยแบ่งเป็น ส.ส. เขต 8 ที่นั่ง และบัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง อีกทั้ง ยังได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ  “พลังประชาชน” ในยุครัฐบาล “สมัคร สุนทรเวช” และ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกฯ ถึง 2 รัฐบาลด้วยกัน ขณะที่การเลือกตั้งปี 2554 ภายใต้การรีแบแบรนด์ใหม่ในนาม “ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน” โดยมี “พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก” เป็นหัวหน้าพรรค สามารถกวาด ส.ส. ไป 7 ที่นั่ง แบ่งเป็นเขต 5 ที่นั่ง และบัญชีรายชื่อ 2 ที่นั่ง อีกทั้ง ยังได้ร่วมรัฐบาลกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ

ถัดมาเป็นอีกหนึ่งที่ถูกขนานนามให้เป็นปลาไหลการเมืองอย่าง “ชาติไทยพัฒนา” เพราะหากย้อนกลับไปก่อนถูกยุบพรรคช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 ภายใต้สังกัด “ชาติไทย” นำโดย บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ คนที่ 21 สามารถพาพลพรรคเก็บกวาดเก้าอี้ ส.ส. ได้ถึง 39 ที่นั่ง โดยแบ่งเป็นระบบบัญชีรายชื่อ 6 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 33 คน

บรรหาร ภาพ สวพ. FM91
บรรหาร ศิลปอาชา ภาพจาก สวพ.FM91

ส่วนการเลือกตั้งในปี 2548 ได้ส.ส. รวม 26 ที่นั่ง แบ่งเป็นบัญชีรายชื่อ 19 ที่นั่ง และระบบแบ่งเขต 7 ที่นั่ง สำหรับปี 2550 หลังถูกยุบพรรค จึงได้เปลี่ยนมาเป็นชาติไทยพัฒนา ภายใต้การนำของ “ชุมพล ศิลปอาชา” น้องชาย บรรหาร โดยสามารถรวบรวมส.ส.ได้ 25 คน แบ่งเป็นเขตเลือกตั้ง 24 คน และบัญชีรายชื่อ 1 คน และในการเลือกตั้งปี 2554 ได้ 19 ที่นั่ง โดยแบบบัญชีรายชื่อ 4 ที่นั่ง และแบ่งเขตเลือกตั้ง 15 ที่นั่ง

สำหรับการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2562 ภายใต้การดูแลของ “กัญจนา ศิลปอาชา” บุตรสาวบรรหาร ที่ยังต้องรอการรับรองผลอย่างเป็นทางการจาก กกต. การเลือกตั้งรอบนี้ชาติไทยพัฒนา กุม ส.ส. ได้เพียง 10 ที่นั่ง เป็นระบบเขตเลือกตั้ง 6 ที่นั้ง และบัญชีรายชื่อ 10 ที่นั่ง

ชาติไทยพัฒนา

ทั้งหมดเป็นภาพรวมสะท้อนผลการเลือกตั้งในรอบหลายช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ของแต่ละพรรคการเมือง  พออนุมานให้เห็นภาพถึงทิศทางการเมืองไทยแต่จากนี้ ด้วยผลพวงของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight