Business

เปิดคำพิพากษาคดีไทยทีวีชนะกสทช.

การฟ้องร้องคดี ระหว่าง บริษัท ไทยทีวี จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีหมายเลขดำที่ 652/2559 ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2558  โดยเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561  ศาลปกครองกลาง ได้อ่านคำพิพากษา คดีดังกล่าว มา เปิดคำพิพากษาคดีไทยทีวีชนะกสทช.

ที่ถือเป็นคดีพิพาทของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐออกคำสั่ง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่

โดยบริษัท ไทยทีวี จำกัด ฟ้องว่า กสทช. มีคำสั่งลงวันที่ 12 ก.พ. 2559 เพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ 2 ช่อง คือ ไทยทีวี และเอ็มวีทีวี แฟมิลี่ (โลก้า)  และให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีอ้างว่า ไทยทีวี ไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตดังกล่าวให้ถูกต้องครบถ้วนก่อนเลิกการประกอบกิจการ

กรณีนี้ ไทยทีวี เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นโมฆะ เนื่องจากไทยทีวีได้แจ้งยกเลิกใบอนุญาตและยุติการดำเนินการตามใบอนุญาต เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2558

ในคดีนี้ ไทยทีวี ขอให้ศาล มีคำพิพากษา หรือ คำสั่ง 11  ข้อ คือ

  1. เพิกถอนคำสั่ง กสทช. เรื่องแจ้งเพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ
  2. เพิกถอนหนังสือ กสทช. เรื่องการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ฯ งวดที่2 และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี
  3. ห้าม กสทช. ดำเนินการใดๆ เพื่อบังคับตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ รวม 16 ฉบับ
  4. ให้ กสทช. คืนหนังสือค้ำประกันธนาคารกรุงเทพ ทั้ง 16 ฉบับ
  5. ให้ กสทช. คืนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ งวดที่ 1 จำนวนเงิน 365 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5%
  6. ให้ กสทช. ชำระค่าเสียหาย จำนวน 713 ล้านบาท
  1. ให้การประมูลคลื่นความถี่ฯ ทีวีดิจิทัล เป็นโมฆะทั้งหมด
  2. ให้สัญญาสิ้นสุดลง เพราะมีการเลิกสัญญากันแล้ว
  3. ให้ กสทช. ชดใช้ค่าเสียหายระหว่างไม่ปฏิบัติตามสัญญา ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ถึง 31 ตุลาคม 2558 รวม 36 ล้านบาท
  4. ให้ถือว่า วันที่ ไทยทีวี มีหนังสือบอกเลิกประกอบกิจการ กสทช. ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใดๆ จากไทยทีวีได้อีก เพราะเป็นความผิด กสทช.
  5. ให้ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ฟ้อง

ในการพิจารณาคดี มุ่งไปที่ข้อ 1-6  ซึ่งก่อนหน้านี้ ศาลมีคำสั่งให้ กสทช. ระงับและบังคับตามหนังสือค้ำประกันธนาคารกรุงเทพ งวดที่เหลือ (งวด 4-6) จนกว่าจะมีคำพิพากษา  หลังจาก ธนาคารกรุงเทพ จ่ายเงินค่าประมูลใบอนุญาต  งวดที่ 2-3  ให้ กสทช. แทนไทยทีวีไปแล้ว  

ประเด็นสำคัญในคำพิพากษาของศาล  คือ  “ใบอนุญาตทีวีดิจิทัล” ไม่ใช่ใบอนุญาตทั่วไป ที่หน่วยงานทางปกครองอนุญาตให้เอกชนประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เป็นการอนุญาตให้ ไทยทีวี “เข้าร่วมการงาน” ในการจัดทำบริการสาธารณะแทนรัฐ ในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ฯ ที่เป็นสมบัติของชาติ และเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน  โดยไทยทีวี ต้องชำระค่าประมูลใบอนุญาต 2 ช่อง จำนวน 1,976 ล้านบาท  (ไทยทีวี  1,328 ล้านบาท  และ โลก้า 648 ล้านบาท)

แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างกล่าวอ้างเป็นผู้กระทำผิด ตามข้อตกลงระหว่างกันในการประกอบกิจการ โดย ไทยทีวีได้แจ้งขอ “ยกเลิกการประกอบกิจการ” ทั้ง 2 ช่อง โดย กสทช. ได้เพิกถอนใบอนุญาต หลังจากไทยทีวี ไม่ชำระค่าธรรมเนียม  จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาระหว่างกัน  ซึ่งคดีมีลักษณะเป็นคดีพิพาท เกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

การที่ไทยทีวี ขอบอกเลิกประกอบกับกิจการ เพราะ กสทช. ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล ตามประกาศ จึงเป็นเรื่องที่ “ชอบแล้ว”

ดังนั้น เมื่อไทยทีวี มีหนังสือ แจ้งยกเลิกเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต เมื่อวันที่ 25  พฤษภาคม 2558  จึงมีผลเป็นการเลิกสัญญาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งตามมาตรา  391  วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระบุว่า เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม เมื่อบอกเลิกสัญญาแล้วไม่มีหน้าที่ ชำระค่าใบอนุญาตหลังจากบอกเลิก  และให้ กสทช. คืนหนังสือค้ำประกันงวดที่เหลือ  นั่นคือ งวดที่ 3-6  ของทั้ง 2 ช่อง รวมมูลค่า 1,750 ล้านบาท

court2

มาดูเหตุผลสำคัญ ของคำพิพากษา ที่ทำให้ ไทยทีวี  สามารถคืนใบอนุญาต และคืนแบงก์การันตี งวดที่เหลือ หลังจาก ไทยทีวี บอกเลิกประกอบกิจการ   

๐ มาจากการที่ กสทช. เปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัลล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนงานที่ประชาสัมพันธ์ เพื่อจูงใจให้เอกชนร่วมประมูลทีวีดิจิทัล

๐ การแจกคูปองให้คนแลก set-top-box ช้ากว่ากำหนด 6 เดือน อีกทั้งนโยบายแจกคูปอง กำหนดไว้  22.9 ล้านฉบับ  แต่ กสทช. แจกได้ 13.5 ล้านฉบับ  ขณะที่ประชาชนนำคูปองมาแลกจำนวน 8 ล้านกล่อง  เพราะ ดูได้ผ่านเคเบิลและดาวเทียม

๐ การประชาสัมพันธ์ดูทีวีดิจิทัลไม่ทั่วถึง ประชาชนไม่เข้าใจ และไม่สนใจเปลี่ยนมาดูทีวีดิจิทัล

๐ การขยายโครงข่ายส่งสัญญาณระบบดิจิทัล (Mux) ล่าช้า  โดยหยิบยกประเด็น  กรมประชาสัมพันธ์  ที่ได้รับใบอนุญาตโครงข่าย  ซึ่ง กสทช. มีมติสั่งปรับโครงข่ายกรมประชาสัมพันธ์วันละ 2 หมื่นบาท

มาดูเหตุผลของฝั่ง กสทช. ต่อคำพิพากษา คดีไทยทีวี

๐ ประเด็นที่ศาล ชี้ว่า การประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เป็นสัญญาร่วมการงาน ในการจัดทำบริการสาธารณะแทนรัฐ เมื่อคู่สัญญาบอกเลิก เป็นเรื่องที่ทำได้   แต่ กสทช.  กำหนดให้การประมูลทีวีดิจิทัล  เป็นการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการ  ซึ่งต้องจ่ายเงินค่าประมูลครั้งเดียว  แต่ตามประกาศ  กสทช.กำหนด การจ่ายเงินเป็นรายงวด รวม 6 งวด  เมื่อเลิกกิจการจึงต้องจ่ายค่าประมูลให้ครบถ้วน

๐  การจากคูปอง และแผนประชาสัมพันธ์ รับชมทีวีดิจิทัล แบ่งเป็นช่วงเวลา

๐  แผนขยายโครงข่าย กสทช. ได้กำหนดไว้ชัดเจนตั้งแต่ก่อนประมูลว่า การขยายโครงข่ายจะดำเนินเป็นระยะ คือ ปีที่1 ครอบคลุมพื้นที่ 50% ปีที่ 2  สัดส่วน 80%  ปีที่3 สัดส่วน 90%  และปีที่ 4  ครอบคลุม 95% หรือทั่วประเทศ

๐  ไทยทีวี ไม่ได้ใช้โครงข่ายของกรมประชาสัมพันธ์  แต่ใช้โครงข่ายไทยพีบีเอส ซึ่งดำเนินการติดตั้งระบบส่งสัญญาณเร็วกว่าแผนงานที่ กสทช.กำหนด   การที่กรมประชาสัมพันธ์ ไม่ขยายโครงข่าย จึงไม่กระทบกับ ไทยทีวี

คำพิพากษา  ศาลปกครองกลางใน คดีไทยทีวี และ กสทช. เมื่อวันที่ 13  มีนาคม 2561  ทั้ง  2  ฝ่ายจะใช้สิทธิอุทธรณ์คดี ในชั้นศาลปกครองสูงสุดต่อไป

ในมุมมองของ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่ต้องการ “ออกจากตลาด”  เพราะตลาดมีการแข่งขันสูง  ดูเหมือนจะเป็นคำตัดสินที่เห็นแสงสว่าง  แต่คำพิพากษา แสดงให้เห็นว่า ไทยทีวี  ยังต้องจ่ายค่าใบอนุญาตเงินงวด 1 และ 2  ที่ใช้คลื่นฯ ประกอบกิจการไปแล้ว และ ยกคำขอเรื่องการเรียกค่าเสียหาย

ปัจจุบันผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล  ที่เหลืออยู่ในตลาด  ได้ใช้คลื่นฯ และจ่ายค่าใบอนุญาต ไปแล้ว 4 งวด  หรือจ่ายไปแล้ว 60-70%  ของมูลค่าใบอนุญาต   นั่นหมายถึงหากคืนใบอนุญาต ออกจากตลาด คือ  ไม่สามารถเรียกคืนเงินค่าใบอนุญาตในงวดที่จ่ายไปแล้วได้ (ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง)

แต่อีกความหวัง ที่ผู้ประกอบการ รอดูในขณะนี้ คือ  คำสั่ง คสช. มาตรา 44   ที่ผู้ประกอบการยื่นขอให้พิจารณา “พักหนี้” หรือ  เว้นจ่ายเงินค่าใบอนุญาต ไปอีกระยะ 3-5 ปี   และลดค่าโครงข่ายลง 50%  หากมีการประกาศ มาตรา 44  ออกมาตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว

ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล  จะมี 2 ทางเลือก คือ  ประกอบกิจการต่อไป แต่หากระหว่างการพักหนี้ ยังไม่สามารถแข่งขันได้ ยังมีทางเลือกออกจากตลาด

จับตาจุดเปลี่ยนทีวีดิจิทัลแห่คืนไลเซ่นส์

Avatar photo