World News

ไทยอันดับพุ่ง ‘เสี่ยงสูง’ เข้าลงทุนทรัพยากรธรรมชาติ

รายงานล่าสุดชี้ ไทย-อินเดีย เกิดกระแสชาตินิยมด้านทรัพยากรพุ่งสูงขึ้น สอดคล้องกับกระแสที่กำลังมาแรง ที่ทำให้เอเชียมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นภูมิภาคที่เป็นอันตรายต่อนักลงทุน

eee 1

เมื่อเร็วๆ นี้ เวอริสค์ เมเปิลครอฟต์ บริษัทที่ปรึกษาซึ่งมีฐานการดำเนินงานอยู่ในสหราชอาณาจ้ักร เปิดเผยการจัดอันดับ “ดัชนีชาตินิยมทรัพยากร” ที่แสดงให้เห็นว่า ไทยติดอยู่ในอันดับ 10 ของประเทศที่มีความเสียงสูงสุด ทะยานขึ้นมาจากอันดับ 16 เมื่อปีที่แล้ว และจากอันดับ 91 เมื่อปี 2559

ขณะที่อินเดียพุ่งขึ้นมาถึง 10 ลำดับ มาอยู่ที่อันดับ 15 ในปีนี้ จากอันดับ 25 เมื่อปีที่แล้ว

ดัชนีชาตินิยมทรัพยากรนี้ เป็นการจัดอันดับโดยพิจารณาจากความเสี่ยงของการเกิดภาวะชาตินิยมด้านทรัพยากรในประเทศ และดินแดนต่างๆ มากกว่า 190 แห่งทั่ว
โลก ซึ่งยิ่งได้อันดับสูงมากเท่าใด ก็หมายความว่า ธุรกิจจะเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น จากการที่รัฐบาลของประเทศ หรือดินแดนเข้ามาควบคุมทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น

ประเทศหรือดินแดนที่มี “ความเสี่ยงอย่างมาก” ที่ติดอันดับต้นๆ ของดัชนีนี้ รวมถึง คองโก เวเนซุเอลา และเกาหลีเหนือ ส่วนไทย และอินเดีย อยู่ในกลุ่มที่ต่ำลงอีกขั้นหนึ่ง คือ “ความเสียงสูง” โดยมีจีน อินโดนีเซีย เมียนมา และเเวียดนาม รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

สำหรับไทยนั้น เวอริสค์ อธิบายว่า รัฐบาลทหารของไทย ที่เข้าคุมอำนาจการบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2557 ได้ใช้อำนาจที่มีอยู่ ผลักดันกฎระเบียบ และเข้าแทรกแซงกิจการโดยขาดการกำกับดูแล อาทิ คำสั่งปิดเหมืองทองชาตรี ที่บริษัทสัญชาติออสเตรเลียได้รับสัมปทาน ด้วยเหตุผลข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ส่วนอินเดียนั้นเป็นประเทศที่มีทรัพยากรถ่านหินมากที่สุดในโลก แต่ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 11 เมษายนนี้ หลายพรรคการเมืองได้ชูนโยบายชาตินิยมทางทรัพยากรธรรมชาติในการหาเสียงด้วย

ข้อมูลของ เวอริสค์ กล่าวว่า นโยบายชาตินิยมทางทรัพยากรธรรมชาติในอินเดียได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดจนบรรดาสหภาพแรงงาน เพื่อต้องการแก้ปัญหาทุจริตในกระบวนการผลิต โดยมีคำพิพากษาจากศาลฎีกาเมื่อปี 2557 ยกเลิกแปลงขุดถ่านหินจำนวน 214 จากทั้งหมด 218 แปลง ที่เคยจัดสรรให้กับนักลงทุนทั้งของรัฐและเอกชน ส่งผลให้ความเสี่ยงของนักลงทุนที่จะลงทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติในอินเดียนั้นอยู่ในอันดับ 15 ของโลกในปี 2562 โดยขึ้นจากอันดับ 25 ในปี 2561

อาคิโอะ ชิบาตะ ประธานสถาบันวิจัยทรัพยากรธรรมชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า แนวคิดชาตินิยมด้านทรัพยากรแต่เดิมเกิดขึ้นเพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นและรัฐต้องการรายได้จากนักลงทุน แต่ล่าสุดพบปัจจัยใหม่คือความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมรวมถึงการสำรองทรัพยากรไว้ใช้ในระยะยาว ทั้งนี้บางประเทศในเอเชีย เช่น เวียดนาม อันดับความเสี่ยงในปี 2562 อยู่ที่ 25 ของโลก ลดลงจากปี 2561 ซึ่งอยู่ในอันดับ 16

Avatar photo