Economics

ไทยอันดับ 51 ประเทศพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน

ไทยถูกจัดอันดับประเทศที่ 51 พร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน จาก 115 ประเทศทั่วโลก ดีขึ้นจากปี 2561 เหตุแผนพีดีพี 2018 กำหนดทิศทางรับพลังงานในอนาคต  

วันนี้ (25 มี.ค.) เวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) หรือสภาเศรษฐกิจโลก ร่วมกับกระทรวงพลังงาน ออกรายงานประจำปี  “Global Energy Transitions Index 2019” การสนับสนุนระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยในปี 2562 มีการจัดลำดับทั้งหมด 115 ประเทศทั่วโลก

DSC 7223

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับการจัดลำดับที่ดีเพิ่มขึ้นถึง 3 ลำดับ มาอยู่ที่ลำดับที่ 51 จากเดิมลำดับที่ 54 ในปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งการเลื่อนลำดับดังกล่าว มาจากการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการเข้าถึงพลังงาน รวมถึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยยังมีคะแนนด้านประสิทธิภาพของระบบพลังงาน และความพร้อมสู่ระบบพลังงานในอนาคตเกินกว่าค่ามาตรฐานโลกอีกด้วย

การจัดลำดับในรายงานของดับเบิลยูอีเอฟครั้งนี้ ถือเป็นการวัดด้านประสิทธิภาพของระบบพลังงาน มีผลวิเคราะห์ข้อมูลที่ตรวจสอบอ้างอิงได้ โดยที่ผู้กำหนดนโยบายสามารถนำข้อมูลไปเพิ่มประสิทธิภาพของระบบพลังงานของประเทศ

ลำดับ 1 – 5 ของประเทศที่มีความพร้อมของระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต ได้แก่  สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก ตามลำดับ

DSC 7257

นายโรแบรโต้ บาคคา ประธานด้านพลังงาน และผลิตภัณฑ์แห่งอนาคต และกรรมการบริหารดับเบิลยูอีเอฟ แสดงความเชื่อมั่นว่า อาเซียนจะมีบทบาทสำคัญ ต่อการเป็นผู้นำระดับภูมิภาค ด้านระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และจะเป็นชาติที่มีความพร้อมในการปฏิบัติการดังกล่าว

การกำหนดนโยบายพลังงานในรูปแบบใหม่ๆ  และการหาพันธมิตรความร่วมมือทางพลังงาน จะเป็นแก่นสำคัญของการรับมือความท้าทายทางพลังงานของอาเซียน เนื่องจากจะไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่ง ที่ระบบพลังงานจะพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตได้เพียงประเทศเดียว และถือได้ว่าชาติในอาเซียน อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่แสดงความเป็นผู้นำในการผลักดันกลยุทธ์ระดับประเทศและระดับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ

ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทย ในปี 2562 นี้  ดับเบิลยูอีเอฟ พร้อมจะให้การสนับสนุนแผนพัฒนาความพร้อมสู่ระบบพลังงานในอนาคตของอาเซียน โดยจะได้ใช้ประโยชน์จากดัชนีวัดความพร้อมของระบบพลังงานของประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต  ควบคู่ไปกับความร่วมมือด้านพลังงาน ผ่านเวทีของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สร้างความเข้มแข็งให้ชาติในอาเซียน รองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การจัดอันดับดังกล่าว วัดจากปัจจัย 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การเข้าถึงพลังงานของประชาชน หมายถึงพลังงานมีใช้อย่างเพียงพอ 2. การเติบโตทางเศรษฐกิจ 3. สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน

ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้น เพราะมีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี 2018 ที่สอดคล้องกับความทันสมัย และการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า ( Prosumer ) ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน และให้ความสำคัญกับการกระจายแหล่งเชื้อเพลิง

ทางด้านนายมาร์คุส ลอเรนซินี่ ประธานและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ประเทศไทย บริษัทซีเมนส์ จำกัด ระบุว่า บริษัทเข้ามาสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ๆ ในกิจการไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ที่จะช่วยให้ไทยมีความพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงมากขึ้น

ปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าในประเทศไทยหลายราย ในหลายๆ อุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ ไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน ในส่วนของระบบส่งไฟฟ้า บริษัทมุ่งเน้นเทคโนโลยีที่ทำให้การส่งไฟฟ้ามีเสถียรภาพมากขึ้น

timeline 20190325 114727

นายวุฒิกร สติธิต  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเด็นของระบบพลังงานในอนาคต ก็คือการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ เช่น การเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติระหว่างประเทศ หรือ ความร่วมมือในการรับส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ซึ่งปัจจุบันประเทศในอาเซียนที่มีสถานีรับส่งแอลเอ็นจีได้แก่ ไทย มาเลเซีย  สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งไทยมีโครงการขยายสถานีรับส่งแอลเอ็นจีอย่างต่อเนื่อง มีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางแอลเอ็นจีในอนาคต

เช่นเดียวกับกิจการไฟฟ้า นายพัฒนา  แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า การเชื่อมสายส่งไฟฟ้าระหว่างประเทศเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ ซึ่งไทยมีการเชื่อมโยงระหว่าง 2 ประเทศหลายโครงการ อาทิ ไทยและสปป.ลาว

Avatar photo