Economics

จับตา ‘เศรษฐกิจไทย’ กับบททดสอบ ‘เลือกตั้ง’

ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งแรก นับตั้งแต่กองทัพทำรัฐประหารเข้ายึดอำนาจบริหารประเทศเมื่อเกือบ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งอาจจุดชนวนให้เกิดความแบ่งแยกทางการเมือง ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และเงินบาท สกุลเงินที่แข็งค่าสุดของเอเชียในขณะนี้

000 1EQ4IV

บลูมเบิร์กรายงานว่า นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ทักษิณ ชินวัตร หรือพันธมิตรของเขา เป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งทุกครั้ง ก่อนที่จะต้องหมดอำนาจลงเพราะรัฐประหาร หรือการตัดสินคดีจากศาล ซึ่งในการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคมนี้ มีความวิตกว่า วงจรแห่งความไร้เสถียรภาพจะกลับมาอีกครั้ง สร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจ ที่กำลังซึมจากการส่งออกที่ชะลอตัวลง และเติบโตช้ากว่าบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน

นักวิเคราะห์ชี้ด้วยว่า การกลับมาของประชาธิปไตยในไทย มาพร้อมกับความเสี่ยงของตัวเอง รวมถึง ความเป็นไปได้ที่จะเกิดความวุ่นวายขึ้น หลังจากหมดยุคที่รัฐบาลทหารปกครองประเทศ ซึ่งเป็นเงาดำที่ครอบคลุมแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศอยู่

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา แสดงความเห็นว่า เรื่องเร่งด่วน คือ การปรับปรุงขีดความสามารถทางการแข่งนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา อันดับของไทยในดัชนีขีดแข่งขันโลกของเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม ร่วงลงมาแล้วถึง 10 อันดับ มาอยู่ในลำดับที่ 38 จากทั้งหมด 140 ประเทศเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการร่วงลงมากสุดในกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

000 1EI2WR

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การลงทุนในประเทศยังลดลงอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นปัจจัยสกัดกั้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่า เศรษฐกิจของไทยจะตามหลังการเติบโตโดยเฉลี่ยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นปี 7 ที่ราว 3.9% ในปีนี้ เทียบกับอัตราเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 5.2%

ในปีนี้ นักลงทุนต่างชาติจำนวนหนึ่งถอนเงินลงทุนออกจากตลาดหลักทรัพย์ และหุ้นกู้ของไทยไปแล้ว 700 ล้านดอลลาร์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อภาคท่องเที่ยว และส่งออก 2 อุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

ขณะที่นักวิเคราะห์จากยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ แบงก์ (ยูโอบี) และสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด มองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐบาลผสมขึ้นหลังวันเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ แต่ยังไม่มีความชัดเจนในองค์ประกอบต่างๆ

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าใครก็ตามที่จะขึ้นมาบริหารรัฐบาล จะต้องรับมือกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว และเป็นตัวกดดันความสามารถทางการแข่งขันของไทย รวมถึง การหาทางที่จะเพิ่มทักษะ และผลิตผลในกลุ่มแรงงานสูงวัย

000 H876S

กาเร็ธ เลเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์จากแคปิตัล อิโคโนมิคส์ ในกรุงลอนดอน อังกฤษ ระบุว่า รัฐบาลใหม่ของไทย อาจพุ่งเป้าไปที่การเอาใจผู้มีสิทธิออกเสียงในต่างจังหวัด มากกว่าที่ลงทุนในด้านการพัฒนาทักษะให้สูงขึ้น ซึ่งจะลงเอยด้วยการทำให้เกษตรกรยังคงอยู่ในงานที่ให้ผลผลิตต่ำต่อไป

“การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น จะส่งผลต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะไม่ว่าใครจะชนะก็ตาม ก็มีแนวโน้มที่จะมุ่งตรงไปสู่การใช้นโยบายประชานิยมอย่างต่อเนื่อง ทำให้การปฏิรูปที่จำเป็น อย่าง การเพิ่มการเติบโตทางด้านผลผลิต และการรับมือกับแนวโน้มประชากรที่ย่ำแย่ลง ล่าช้าออกไป”

ส่วน อาลก โลเฮีย มหาเศรษฐี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท และรองประธานกรรมการบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส แสดงความเห็นว่า ในขณะที่รัฐบาลประชาธิปไตยอาจช่วยหนุนโอกาสของไทย ที่จะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากขึ้น แต่การที่จะโน้มน้าวอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนให้เข้ามาลงทุนไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

“เรื่องนี้เป็นงานที่ยาก เราไม่มีการศึกษาที่จะช่วยสร้างกลุ่มคนที่มีทักษะ ที่บริษัทขนาดใหญ่กำลังมองหาตัวอยู่”

Avatar photo