World News

ไร้เงา ‘ไบเดน-ปูติน’ เหตุ ‘สี จิ้นผิง’ ผงาด ‘ดาวเด่น’ เวทีประชุมเอเปค 2022

ผู้นำและตัวแทน 21 เขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) พากันเดินทางมาถึงประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมเอเปค ที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นการรวมตัวของเหล่าผู้นำนานาชาติเวทีที่ 3 ในช่วง 1 สัปดาห์

วีโอเอ รายงานว่า สื่อหลายสำนักพากันรายงานประเด็นคล้าย ๆ กันว่า ผู้ที่กลายมาเป็นดาวเด่นในการประชุมเอเปค 2022 ที่กรุงเทพฯ นั้นเหลืออยู่เพียง 1 เดียว ซึ่งก็คือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งจีน หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ตัดสินใจไม่มาร่วมงานนี้

ประชุมเอเปค 2022

ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า การที่ผู้นำสหรัฐ ไม่ได้มาร่วมการประชุมเอเปค หมายความว่า ประธานาธิบดีสี ไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับประธานาธิบดีไบเดน บนเวทีหารือนานาชาติแห่งนี้ ที่มีเป้าหมายหลักในเรื่องเศรษฐกิจของภูมิภาค ที่เป็นจุดท้าประลองระหว่างสหรัฐ และจีนอยู่

ส่วนการที่ประธานาธิบดีปูติน ตัดสินใจส่งรองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งมาร่วมงานแทน ก็ทำให้ผู้นำจีนไม่ต้องกระอักกระอ่วนใจ ที่จะต้องเผชิญหน้า กับคนที่ตัวเองเรียกว่าเป็น เพื่อนสนิท แต่กลายมาเป็นคนที่โลกตะวันตกรังเกียจเพราะการสั่งกองทัพบุกเครน

นอกจากนั้น การที่ประธานาธิบดีสีเป็นผู้นำมหาอำนาจรายเดียวในงานนี้ จีนจะมีโอกาสเต็มที่ ในการส่งเสริมวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจของตน ต่อผู้นำ และตัวแทนประเทศและเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มีวาระร่วมประชุมหารือในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่ ภาวะเงินเฟ้อ ไปถึง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และปัญหาเสถียรภาพด้านพลังงาน ที่ล้วนมีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุย ตั้งแต่การประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงพนมเปญ และการประชุมสุดยอดจี-20 ที่เกาะบาหลีแล้ว

ยุน ซุน ผู้อำนวยการโครงการจีน ของสติมสัน เซ็นเตอร์ หน่วยงานคลังสมองในกรุงวอชิงตัน บอกว่า เวทีเอเปคในปีนี้ จีนคือจุดศูนย์กลางที่ดึงดูดความสนใจได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไม่มีผู้นำสหรัฐ และรัสเซีย มาแย่งความสนใจไป

ข้อความที่จีนจะส่งออกมาในงานนี้แบบเป็นนัยก็คือ การที่ผู้นำกรุงปักกิ่งมาร่วมงานนี้ แสดงให้เห็นว่า จีนต้องการมีส่วนร่วมกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากกว่าทั้งกรุงวอชิงตัน และกรุงมอสโก

ไม่นานหลังเดินทางถึงไทย ในช่วงบ่ายวานนี้ (17 พ.ย.) ประธานาธิบดีสี เข้าร่วมประชุมกับตัวแทนภาคธุรกิจ และกล่าวกับผู้ร่วมงานว่า ภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกไม่ควรกลายมาเป็นเหมือนพื้นที่สวนหลังบ้านของประเทศใดประเทศหนึ่ง และไม่ควรกลายมาเป็นสนามประลองกำลังของประเทศมหาอำนาจใด ๆ

ท่าทีที่สื่อต่างประเทศ ระบุว่า ผู้นำจีนน่าจะหมายถึงสหรัฐ ที่พยายามผูกสัมพันธ์กับพันธมิตร และหุ้นส่วนในภูมิภาคนี้ เพื่อต่อกรกับอิทธิพลทางทหาร และเศรษฐกิจของจีน ที่มีลักษณะขู่กรรโชกมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในสุนทรพจน์ที่ผู้นำจีนนำเสนอต่อที่ประชุมภาคธุรกิจนี้ ประธานาธิบดีสี ระบุว่า “จะไม่ยอมให้ใครพยายามก่อสงครามเย็นครั้งใหม่” และว่า “เราควรดำเนินตามเส้นทางของการเปิดกว้างและการเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม ทุกฝ่ายควรปฏิเสธนโยบายที่ดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว และลัทธิการคุ้มครองทางการค้า

รวมทั้ง ความพยายามใด ๆ ก็ตามที่จะนำเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ทางการค้าให้กลายมาเป็นประเด็นทางการเมืองหรือกลายมาเป็นอาวุธต่อกรกัน และความพยายามใด ๆ ที่จะรบกวน หรือแม้แต่ลบล้างห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรม  ที่มีแต่จะนำพาความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกไปสู่จุดจบเท่านั้น

ประชุมเอเปค 2022

นอกจากนั้น ประธานาธิบดีสี ยังได้จัดการประชุมทวิภาคี กับนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการพบกันครั้งแรกของผู้นำของสองประเทศในรอบเกือบ 3 ปี โดยนายกฯ คิชิดะ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับประเด็นสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน และยืนยันกับผู้นำจีนว่า ญี่ปุ่นพร้อมจะเปิดช่องทางการสื่อสารทางการทูตอย่างใกล้ชิดกับจีนด้วย ตามรายงานของรอยเตอร์

ผู้นำญี่ปุ่นเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า ตนและประธานาธิบดีสี เห็นพ้องต้องกันว่า รัสเซียต้องไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์โจมตียูเครน แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่า ผู้นำจีนกล่าวให้ความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ทั้งนี้  ปฏิกิริยาของประเทศสมาชิกเอเปคต่อสงครามที่ดำเนินมาเกือบ 9 เดือนและส่งผลกระทบต่อราคาอาหารและพลังงาน รวมทั้งทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก ทั้งยังทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เดินหน้าไม่ได้เต็มที่ เป็นอีกประเด็นที่หลายฝ่ายจับตาดูในการประชุมนานาชาติที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ หลังการประชุมเตรียมความพร้อมก่อนหน้านี้ ไม่มีการออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสงครามยูเครนเลย เนื่องจากหาข้อสรุปไม่ได้ว่า จะใช้คำพูดอย่างไร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo