ทางการสหรัฐเห็นพ้องวิธีการควบคุมผลิตภัณฑ์อาหาร ที่เกิดจากการเพาะเซลล์ เปิดทางให้สิ่งที่เรียกว่า “เนื้อห้องทดลอง” หรือ “Lab meat” ขึ้นมาอยู่บนโต๊ะอาหารของชาวอเมริกันได้
กระทรวงเกษตร (ยูเอสดีเอ) และสำนักงานอาหาร และยา (เอฟดีเอ) ของสหรัฐ แถลงร่วมกันว่า ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะใช้กฏข้อบังคับร่วมกัน ในการควบคุมผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งเป็นเนื้อที่เกิดจากการเพาะเซลล์ในห้องทดลอง
เนื้อที่ได้จากเซลล์สัตว์นั้น เกิดขึ้นจากการนำเนื้อเยื่อจากสัตว์ มาเพาะเลี้ยงในห้องทดลอง โดยการทำให้เนื้อเยื่อเหล่านั้นให้โตขึ้นในสภาพแวดล้อม ที่ทำให้เซลล์เชื่อว่ายังอาศัยอยู่ในร่างกายของสัตว์ จนกระทั่งเซลล์นั้นเติบโต และใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์มากที่สุด ซึ่งจะทำให้ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์มาฆ่าเป็นอาหารอีกต่อไป
แม้จะยังไม่มีการยืนยันในรายละเอียดทางด้านเทคนิค แต่เอฟดีเอจะเป็นผู้ดูแลในเรื่องการรวบรวม และแยกแยะเซลล์ ในช่วงเวลาที่สเต็มเซลล์พัฒนาขึ้นเป็นเนื้อแต่ละชนิด ส่วนยูเอสดีเอ จะรับผิดชอบในเรื่องของการผลิต และติดป้ายระบุผลิตภัณฑ์อาหาร
“กรอบข้อบังคับนี้ จะช่วยยกระดับประสบการณ์ของเอฟดีเอ ทั้งในด้านเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์ และระบบชีวภาพที่มีชีวิต และความเชี่ยวชาญของยูเอสดีเอในการควบคุมผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ และสัตว์ปีกเพื่อการบริโภคของมนุษย์” แถลงการณ์ระบุ
ที่ผ่านมา ยังไม่เคยเกิดคำถามเกี่ยวกับการอนุมัติผลิตภัณฑ์อาหารจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ในสหรัฐแต่อย่างใด แม้ในความเป็นจริงนั้น จะมีสตาร์ทอัพ “เนื้อห้องทดลอง” ขนาดเล็กอยู่หลายรายแล้วก็ตาม แต่ก็มีต้นทุนการผลิตที่สูงมาก และยังไม่มีรายใดที่มีผลิตภัณฑ์พร้อมวางจำหน่าย