World News

ยอดออกหุ้นกู้อิสลามโลกร่วงครึ่งแรกปี 61

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือมาเลเซีย “อาร์เอเอ็ม เรทติ้ง”  เผย ยอดการออกหุ้นกู้อิสลาม หรือซูกุ๊กทั่วโลก ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ลดลง 5.2% มาอยู่ที่ 50,300 ล้านดอลลาร์

ยอดออกหุ้นกู้อิสลามโลกร่วงครึ่งแรกปี 61

อาร์เอเอ็ม ระบุว่า สาเหตุหลักมาจากการที่ประเทศในแถบตะวันออกกลางมีการออกหุ้นกู้ประเภทนี้ลดลง โดยเฉพาะกาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย นอกเหนือจากตุรกี ซึ่งบางประเทศตกอยู่ในภายใต้แรงกดดันจากเรื่องงบประมาณตึงตัว ทำให้กระทบต่อการออกพันธบัตรอิสลามของรัฐบาล

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 มาเลเซียยังคงเป็นประเทศที่มีการออกหุ้นกู้อิสลามมากสุดในโลก เพิ่มขึ้น 4.7% มาอยู่ที่ 19,400 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนรราว 38.7% ของยอดการออกหุ้นกู้อิสลามทั่วโลก โดยที่ภาคเอกชนมีการออกหุ้นกู้คิดเป็นสัดส่วนราว 72% ของหุ้นกู้อิสลามมาเลเซีย

อย่างไรก็ดี รายงานชี้ว่า สถานะผู้นำตลาดหุ้นกู้อิสลามของมาเลเซียกำลังสั่นคลอน เพราะตลาดเกิดใหม่อื่นๆ เดินหน้าพัฒนาตลาดซูกุ๊กของตัวเอง และสถานะนี้ยังอาจได้รับผลกระทบจากรัฐบาลกรุงกัวลาลัมเปอร์ชุดใหม่ ที่กำลังทบทวนโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้่นฐานที่รัฐบาลชุดก่อนอนุมัติไว้

มาเลย์เสี่ยงหลุดผู้นำซูกุ๊กโลก

มาเลเซียถือเป็นผู้นำในด้านการส่งเสริมการเงินอิสลาม มีการส่งเสริมในด้านนี้ทั้งต่อภาครัฐ และเอกชน ผ่านการออกมาตรการจูงใจต่างๆ เพื่อให้เป็นทางเลือกในการระดมทุน

อย่างไรก็ดี ประเทศอิสลามรายอื่นๆ กำลังไล่ตามมาเลเซียมาติดๆ โดยการออกหุ้นกู้อิสลามในอินโดนีเซีย มีเพิ่มขึ้นถึง 52.6% มาอยู่ที่ 6,600 ล้านดอลลาร์ แรงหนุนหลังจากการจัดทำแผนแม่บทหุ้นกู้อิสลามระยะเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2559 แต่ราว 95% ของหุ้นกู้อิสลามอินโดนีเซีย มาจากภาครัฐ

อาร์เอเอ็ม อธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง 2 ประเทศว่า ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการละเลยถึงส่วนต่างด้านต้นทุน เมื่อเทียบกับการระดมทุนด้วยการกู้เงินธนาคาร และการขาดความความรู้เกี่ยวกับการออกหุ้นกู้อิสลามในภาคเอกชน

อินโดนีเซียยังเป็นประเทศแรกที่มีการออก “กรีน ซูกุ๊ก” หรือหุ้นกู้อิสลามที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม มูลค่า 1,250 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อระดมทุนสนับสนโครงการต่างๆ รวมถึง พลังงานหมุนเวียน และการบริหารจัดการของเสีย

Indonesia Sukuk

‘กรีน ซูกุ๊ก’ ผลิตภัณฑ์มาแรง

การออกหุ้นกู้ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น จากการที่รัฐบาลประเทศต่างๆ หาทางที่จะส่งเสริมนโยบายด้านความยั่งยืนด้านต่างๆ ด้วยการสนับสนุนให้เงินทุนเอกชนไหลเข้าไปในโครงการโครงสร้างพื้นฐานคาร์บอนต่ำ และเอื้อต่อการรักษาสภาวะอากาศโลก

นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว มีบริษัทในมาเลเซีย 5 ราย ออกกรีน ซูกุ๊ก มูลค่าโดยรวมประมาณ 324 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนโครงการพลังงานต่างๆ

หนึ่งในจำนวนนี้ รวมถึง ทาดาว เอนเนอร์ยี หน่วยงานในเครือเอดรา พาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ ของจีน ออกกรีนซูกุ๊กครั้งแรกมูลค่า 250 ล้านริงกิต สำหรับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ในรัฐซาบาห์ ทางตะวันออกของมาเลเซีย

คาดตลอดปีน้อยกว่าปี 60

ทั้งนี้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ 6 ประเทศในตะวันออกกลาง ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มสภาความร่วมมืออ่าว (จีซีซี) ออกซูกุ๊กโดยรวม คิดเป็นสัดส่วนราว 94% ของยอดการออกซูกุ๊กโลก

การที่ซาอุดีอาระเบีย และกาตาร์ ออกหุ้นกู้อิสลามน้อยลง ทำให้ยอดการออกซูกุ๊กจากจีซีซีในช่วง 6 เดือนของปีนี้ ร่วงลง 19.1% มาอยู่ที่ 21, 300 ล้านดอลลาร์

อาร์เอเอ็ม ยังคาดการณ์ว่า ปริมาณการออกซูกุ๊กตลอดทั้งปี 2561 น่าจะอยู่ที่ราว 75,000 – 85,000 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากระดับ 97,300 ล้านดอลลาร์ ในปี 2560

สถานการณ์ของตลาดซูกุ๊กในปีนี้ ยังขึ้นอยูกับผลประกอบการของเศรษฐกิจโลก และการฟื้นตัวด้านการลงทุนในประเทศที่เป็นตลาดหลักๆ ของการเงินอิสลาม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight