“อธิบดีกรมราชทัณฑ์” แจงยิบกรณี “บุ้ง ทะลุวัง” เผยมีอาการนั่งแล้ววูบก่อนเสียชีวิต ยันยังไม่ได้รับผลชันสูตรศพจาก รพ.ธรรมศาสตร์
กรณีที่นางสาวเนติพร หรือ บุ้ง ทะลุวัง ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง ล้มฟุบและหัวใจหยุดเต้น แพทย์ต้องปั๊มหัวใจยื้อชีวิตแต่ไม่เป็นผล ก่อนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เวลา 11.22 น. นั้น
นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดี กรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า จากขั้นตอนที่ได้รับรายงานมานั้น ขั้นตอนแรกพบว่าบุ้งและตะวันตื่นตั้งแต่เวลาประมาณ 03.00 น. และมีการพูดคุยกัน จากนั้นตะวันไปเข้าห้องน้ำ แล้วกลับมาถามบุ้งที่ขณะนั้นนอนอยู่ที่เตียงผู้ป่วยว่ายังปวดท้องอยู่หรือไม่ และเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาตรวจสภาพร่างกายตามปกติทุกวันทั้งการตรวจวัดความดัน ออกซิเจน การเต้นของหัวใจ ตรวจเสร็จแล้วก็มาตรวจตะวันต่อ
หลังจากนั้นประมาณ 1 นาที หรือเวลาประมาณ 06.00 น. บุ้งได้ลุกขึ้นนั่ง และปรากฏว่ามีอาการวูบ จากนั้นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ (อสรจ.) จำนวน 4 คน ก็ได้ยกบุ้งทั้งที่นอนไปรักษาที่ห้องไอซียู และทำ CPR มีการตรวจวัดชีพจร ให้กลูโคลส ฉีดอะดรีนารีนเพื่อกระตุ้นหัวใจโดยมีแพทย์เป็นผู้ฉีด มีการทำCPR ตลอดเวลาต่อเนื่องจนกระทั่งนำตัวส่งแพทย์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์
ระหว่างนั้นมีการประเมินสภาวะร่างกายโดยการจับชีพจรแต่ไม่สามารถจับสัญญาณการเต้นของหัวใจได้ แต่สัญญาณชีพที่ตรวจวัดได้ครั้งสุดท้ายคือ 90 ครั้ง/นาที จนกระทั่งเวลาประมาณ 11.00 น. ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์จึงแจ้งว่า เสียชีวิตอย่างสงบ
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยว่าบุ้งได้เสียชีวิตระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์หรือไม่นั้น นายสหการณ์ กล่าวว่า จะต้องไปตรวจสอบเพิ่มเติม แต่คิดว่าอยู่ระหว่างการยื้อชีวิตให้ได้มากที่สุด แต่ไม่ได้บอกว่าสิ้นชีพไปแล้ว ยืนยันว่าไม่ได้ส่งตัวช้า เพราะหลังเกิดเหตุได้ประสานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์โดยทันที แต่ระหว่างนั้นมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการหลายอย่าง
“ได้พยายามสุดความสามารถแล้ว แต่เนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และไม่มีอาการที่บ่งชี้มาก่อนว่าจะเกิดภาวะฉุกเฉินที่ส่งผลต่อชีวิต ซึ่งได้ตรวจสอบรายงานทางการแพทย์มาแล้วทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ห้องกู้ชีพของทัณฑสถานและการรักษาของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีความพร้อมในระดับมาตรฐานของสถานพยาบาลชั้นทุติยภูมิโดยทั่วไป แต่หลังจากนี้จะต้องมีการตรวจสอบว่ามีสาร และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการกู้ชีพเพียงพอหรือไม่” นายสหการณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในการแถลงข่าวครั้งล่าสุด ผอ.รพ.ทัณฑสถาน ผู้ให้ข้อมูลเป็นแพทย์ที่ไม่ใช่แพทย์เจ้าของไข้ และไม่ใช่แพทย์เวร จึงไม่สามารถให้รายละเอียดในเชิงลึกได้ จึงทำให้เกิดการตอบคำถามที่ไม่ชัดเจน ส่วนเรื่องการดูแลรักษาในวันนั้น เนื่องจากบุ้งเป็นผู้ป่วยพักฟื้น ไม่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษจะมีการตรวจ จัดอาหารและอาหารเสริมให้ตามปกติ รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ในห้องนั้นมีหน้าที่ที่คอยเป็นหูเป็นตาให้กับแพทย์โดยมีแพทย์และพยาบาลควบคุมดูแลอีกชั้นหนึ่ง
ทั้งนี้ ยืนยันว่าแพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ได้พยายามยื้อชีวิตบุ้งอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตได้ ส่วนรายละเอียดทางการแพทย์ในเชิงลึกนั้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบ รวมถึงไม่ได้ส่งตัวช้า เนื่องจากมีหลายขั้นตอนที่ต้องทำ เช่น ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสัญญาณหัวใจ
สำหรับกรณีที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการกลับมารับประทานอาหารของบุ้งนั้น ขอเรียนว่าการจัดอาหารสำหรับผู้ป่วย เราก็จะมีนักโภชนาการพิจารณาอยู่ว่าอาการป่วยลักษณะนี้จะต้องรับประทานอะไร ส่วนใหญ่เริ่มจากอาหารอ่อน ตามด้วยวิตามินเสริมและนม ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพอาการของผู้ป่วย แต่ว่าทางทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก็ได้จัดอาหารตามโภชนาการแก่นางสาวเนติพร หรือบุ้ง ทุกมื้อ
ส่วนที่ผมได้รับรายงานมาก็คือบางครั้งบุ้ง ก็เลือกดื่มน้ำหวานหรือรับประทานอาหารเบา ๆ ก่อน ส่วนก่อนจะถึงวันที่เสียชีวิต เจ้าตัวก็ได้มีการเริ่มรับประทานข้าวต้มมาก่อน อย่างไรก็ตาม ในเช้าวันเสียชีวิต (14 พ.ค.) บุ้งและตะวัน ทั้งคู่นอนอยู่ในห้องผู้ป่วย มีการตื่นมาตอน 03.00 น. อย่างที่เราทราบคนป่วยมักจะมีสภาพหลับ ๆ ตื่น ๆ แต่ ณ ตอนนั้นมันยังไม่ถึงเวลารับประทานอาหารเช้าแต่อย่างใด จนมาถึงช่วงเวลาประมาณ 06.20 น. บุ้งถึงเกิดอาการวูบหมดสติ
ส่วนกรณีที่ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส (ทนายความของบุ้ง) เผยว่าได้รับทราบผลการตรวจกระเพาะอาหารของบุ้งเบื้องต้นว่าภายในกระเพาะอาหารไม่มีอาหารเลยนั้น อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ถามว่าผลชันสูตรศพออกมาแล้วหรือ ผมยังไม่ทราบในรายละเอียดส่วนนี้ แต่ได้ประสานไปที่ รพ.ธรรมศาสตร์ แล้วทราบว่ารายละเอียดบางส่วน ทาง รพ.ธรรมศาสตร์ ยังต้องประสานการทำงานร่วมกับสถานพยาบาลอื่นในการตรวจชันสูตร ยืนยันว่าผลการชันสูตรพลิกศพยังไม่ออก ส่วนทนายความรับทราบจากทางใดตนไม่ทราบเช่นกัน
สำหรับกรณีที่ทนายกฤษฎางค์อ้างว่าบุ้งเสียชีวิตก่อนจะส่งตัวถึง รพ.ธรรมศาสตร์ นั้น อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ขอให้รอการชันสูตรพลิกศพให้เสร็จสิ้นก่อน หากเราไม่รอกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ก็ยังยืนยันไม่ได้ ส่วนการปั๊มชีพจรภายหลังที่บุ้งวูบหมดสตินั้น เจ้าหน้าที่ได้พาบุ้งไปห้องไอซียูทันที ไม่ได้ปั๊มชีพจรบนเตียงผู้ป่วย เพราะเตียงอาจยุบ จึงมีการยกเตียงจากชั้น 2 ที่บุ้งนอนอยู่ลงไปชั้น 1 ที่มีห้องไอซียูแทน เพราะมันคือเหตุฉุกเฉิน โดยมีเจ้าหน้าที่จำนวน 4 ราย ช่วยกันยก
ส่วนประเด็นภาพกล้องวงจรปิดภายในห้องพักผู้ป่วยทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่มีนางสาวทานตะวัน อยู่กับนางสาวเนติพร ก่อนเสียชีวิตและแผนการรักษาล่วงหน้า 5 วันที่ทนายกฤษฎางค์ได้ขอนั้น ผมทราบว่าเมื่อช่วงเช้าทางผู้แทนของผู้เสียชีวิต (พ่อหรือแม่ของบุ้ง) ได้เข้ามาติดต่อรับเอกสารการตรวจรักษาของบุ้งย้อนหลัง 5 วันเรียบร้อยแล้ว ส่วนภาพจากกล้องวงจรปิด คงต้องดูอีกที เพราะมันไม่ไปเกี่ยวข้องกับคนอื่น ๆ ในห้องนั้นด้วย คงต้องมีการเซ็นเอกสารยินยอมจากผู้อื่นก่อน ทั้งนี้ ถ้าหากทางครอบครัวยังมีความข้องใจเรื่องการเสียชีวิต อำนาจคำสั่งของศาลสามารถดำเนินการไต่สวนได้หมดเพื่อพิสูจน์ความผิดต่าง ๆ
ส่วนกรณีที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าคำพูดที่หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ (นพ.สมภพ สังคุตแก้ว) ระบุว่าไม่มีหมอเทวดาที่ไหนรักษาได้นั้น อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยว่า ผมมองว่าอาจจะเป็นในลักษณะการพูดมากกว่า เพราะถ้าพินิจกันตามตรง ผู้ป่วยมีหลายประเภท มีทั้งผู้ป่วยในห้องพักฟื้นและรอการกลับบ้าน ในขณะที่บุ้งไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉิน เขาคือผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาไปตามอาการ แต่สิ่งที่เราคาดเดาไม่ได้คือบางทีไม่ฉุกเฉินแต่วูบหมดสติก็มีโดยไม่มีข้อบ่งชี้ แต่แพทย์ได้ทำสุดความสามารถแล้ว เรามีการวัดค่าออกซิเจน อัตราการเต้นของชีพจร ค่ากลูโคส ฯลฯ ทุกวัน ซึ่งมันไม่มีตัวบ่งชี้มาก่อนว่าบุ้งอยู่ในภาวะอันตรายหรือเสี่ยงอันตราย และบุ้งยังมีกิจกรรมกิจวัตรประจำวันปกติ ส่วนเรื่องการเต้นของชีพจรหัวใจของบุ้งก่อนเสียชีวิตอาจจะประมาณ 90 ครั้งต่อนาที ซึ่งมันเป็นค่าปกติ จึงไม่ได้ทำให้เห็นว่าต้องมีการกู้ชีพกระทันหัน
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ผมได้ไปสอบถามเพื่อนที่เป็นแพทย์อยู่ภายนอกนั้น โดยเฉพาะในเรื่องเทคนิคการแพทย์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการกู้ชีพบุ้ง เดี๋ยวตนจะไปตรวจสอบให้อีกครั้ง แต่ยืนยันว่าแพทย์ทำตามมาตรฐานขั้นทุติยภูมิในการช่วยเหลือผู้ป่วย อีกทั้งวานนี้ (16 พ.ค.) ได้สั่งการให้ผู้แทนไปตรวจสอบรายละเอียดมาตรฐานการให้การรักษาดูแลว่ามีสิ่งใดที่เป็นจุดอ่อนหรือไม่
“ไม่ได้บอกว่าแพทย์ลืมใช้สารอะไรในการฉีดกระตุ้นช่วยเหลือบุ้ง เพราะเขาทำตามกระบวนการการรักษาอยู่แล้ว แต่ในเรื่องที่สื่อมวลชนสงสัย เช่น มีการใช้สารอื่นในการขยายหลอดเลือดช่วยการเต้นของหัวใจหรือไม่นั้น แพทย์มีการใช้อยู่แล้ว แต่เป็นฟอสฟอรัสหรือไม่ ก็จะได้ให้ผู้แทนไปตรวจสอบให้ครบทั้งหมด” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ส่งตัวบุ้งไปเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลที่ใกล้เคียงมากกว่านี้ ผมอยากเรียนว่าระยะห่างระหว่างทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ กับ รพ.ธรรมศาสตร์ มันไม่ไกลขึ้นโทลล์เวย์ได้ และทั้งบุ้งและตะวันต่างมีประวัติการรักษาพร้อมอยู่แล้ว อาจทำให้กระบวนการรักษาน่าจะดีกว่า
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ร่าง ‘บุ้ง ทะลุวัง’ ถึงวัดย่านลาดกระบังแล้ว ครอบครัว-เพื่อนร่วมไว้อาลัย
- ‘รุ้ง-มายด์’ ไม่ทน! ยื่นหนังสือจี้ตรวจสอบสาเหตุการตาย ‘บุ้ง ทะลุวัง’
- ‘ตะวัน’ ยอมรับไม่ได้ ‘บุ้ง ทะลุวัง ’ไม่อยู่แล้ว
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg