World News

จีนพัฒนา ‘เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์’ ช่วยตรวจหา ‘มะเร็งตับอ่อน’ ระยะแรก

“สถาบันต๋าโม๋” สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของอาลีบาบา พัฒนาโมเดลปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถช่วยตรวจหามะเร็งตับอ่อนระยะแรกเริ่ม โดยใช้ภาพเอ็กซ์เรย์ที่มีความแม่นยำสูง

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า โมเดลแพนดา (PANDA) เป็นดีป เลิร์นนิง (deep learning) หรือแนวทางหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่พัฒนาโดยสถาบัน สามารถขยาย และระบุลักษณะทางพยาธิวิทยาแบบละเอียด ในภาพเอ็กซ์เรย์ธรรมดา ที่ตรวจพบได้ยากด้วยตาเปล่า

มะเร็งตับอ่อน ถือเป็นเนื้องอก ที่เป็นเนื้อร้ายชนิดรุนแรง แต่สามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก

ปัญญาประดิษฐ์

เริ่มแรก แพนดาถูกฝึกโดยใช้ชุดข้อมูลผู้ป่วย 3,208 รายจากสถาบันวิจัยแห่งเดียว โดยผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ เมดิซีน ในสัปดาห์นี้พบว่า เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวมีความไว 94.9% และความจำเพาะเต็ม 100% ในกลุ่มทดสอบภายในที่ครอบคลุมผู้ป่วย 291 รายจากสถาบันโรคตับอ่อนเซี่ยงไฮ้

ต่อมาโมเดลข้างต้น ถูกนำไปตรวจสอบในกลุ่มสถาบันวิจัยภายนอก ครอบคลุมผู้ป่วย 5,337 ราย จากจีน และสาธารณรัฐเช็ก โดยใช้การตรวจวินิจฉัยโรค ด้วยเครื่องเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scans) ในช่องท้อง ซึ่งพบว่าโมเดลนี้ มีความไว และความจำเพาะอยู่ที่ 93.3% และ 98.8% ตามลำดับ ซึ่งมีประสิทธิภาพเฉลี่ยเหนือกว่ารังสีแพทย์

ทั้งนี้ ความไว (Sensitivity) ของการทดสอบ หมายถึงความสามารถในการระบุบุคคลที่มีผลของโรคเป็นบวก ขณะที่ความจำเพาะ (specificity) คือความสามารถในการระบุบุคคลที่ไม่มีผลของโรคเป็นลบ

โมเดลแพนดาถูกนำมาใช้ในทางคลินิคมากกว่า 500,000 ครั้ง โดยพบผลบวกปลอมเพียง 1 ครั้ง ในทุก ๆ 1,000 ครั้ง ซึ่งคณะนักวิจัยระบุว่า แพนดาอาจกลายเป็นเครื่องมือใหม่สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับอ่อนในวงกว้าง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo