World News

จีนจ่อแบนนำเข้า ‘อาหาร’ จากฟุกุชิมะ- อีก 9 จังหวัดของญี่ปุ่น

สำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีนรายงานว่า จีนเตรียมห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร จากจังหวัดฟุกุชิมะ และอีก 9 จังหวัดของญี่ปุ่น เพื่อป้องกันอาหารปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี เข้าสู่ประเทศและปกป้องผู้บริโภคชาวจีน

เจ้าหน้าที่สำนักงานฯ ระบุว่ารายงานของทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งทบทวนแผนการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีของญี่ปุ่นลงสู่มหาสมุทร ไม่ได้สะท้อนมุมมองของผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการประเมินอย่างครบถ้วน

ปัจจุบันยังคงเกิดคำถามที่ไม่มีคำตอบจำนวนมาก เกี่ยวกับความชอบธรรมของแผนการปล่อยน้ำเสียลงมหาสมุทรของญี่ปุ่น ความน่าเชื่อถือของโรงบำบัดน้ำเสีย ตลอดจนความซื่อตรงของแผนการเฝ้าติดตาม

ทั้งนี้ จีนจะเพิ่มความเข้มงวดของการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหาร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากพื้นที่อื่นๆ ของญี่ปุ่น โดยสำนักงานฯ จะยกระดับมาตรการตรวจจับ และเฝ้าติดตามสารกัมมันตภาพรังสี รวมถึงป้องกันการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนอย่างเข้มงวด

6ef5623023044b168ecca8c77adae1f2

ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังวางแผนที่จะปล่อยน้ำกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้ว จากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ อย่างเร็วที่สุดในเดือนสิงหาคมนี้ หลังได้รับการอนุมัติจากไอเออีเอ ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

อย่างไรก็ดีล่าสุด สำนักงานกำกับควบคุมนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ได้ออกใบรับรองอย่างเป็นทางการแก่โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมปานี หรือเทปโก (TEPCO) ผู้ดำเนินงานโรงบำบัดเพื่อปล่อยน้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิชิ ซึ่งหมายถึงโรงบำบัดดังกล่าวผ่านการตรวจสอบขั้นสุดท้ายแล้ว

รายงานระบุว่าการอนุมัติข้างต้นมีขึ้นหลังจากสำนักงานฯ ตรวจสอบระบบต่างๆ ซึ่งครอบคลุมการสูบน้ำทะเลปริมาณมหาศาลและวาล์วปิดฉุกเฉิน ถือเป็นหมุดหมายว่าการเตรียมการด้านโลจิสติกส์ของโรงบำบัดแห่งนี้เสร็จสมบูรณ์ นำพาญี่ปุ่นสู่การเริ่มต้นปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์ลงสู่ทะเลในช่วงฤดูร้อนนี้

getAttachment 2023 07 07T193616.728

นอกจากนั้นการอนุมัติข้างต้นมีขึ้นหลังจากเมื่อวันอังคาร (4 ก.ค.) ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) รายงานการพิจารณาความปลอดภัยรอบด้านฉบับสุดท้ายเกี่ยวกับแผนการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์ลงสู่มหาสมุทรของญี่ปุ่น โดยอ้างว่าแผนการดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ตกลงไว้

หลังจาก ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการทบวงฯ ส่งมอบรายงานฉบับข้างต้นแก่ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อวันอังคาร (4 ก.ค.) ทำให้เกิดการประท้วงในญี่ปุ่นและต่างประเทศ ซึ่งชี้ว่า “ไม่สมเหตุสมผล” ที่รัฐบาลญี่ปุ่นใช้รายงานของทบวงฯ เป็นใบอนุญาตการปล่อยน้ำปนเปื้อนลงสู่มหาสมุทร โดยเพิกเฉยเสียงคัดค้านจากประชาชนท้องถิ่น อุตสาหกรรมประมง และประเทศเพื่อนบ้าน

ที่มา:สำนักข่าวซินหัว 

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight