The Bangkok Insight

7 วันอันตราย สงกรานต์ปีนี้ มอเตอร์ไซค์ครองแชมป์เกิดอุบัติเหตุ ไม่ทำประกันถึง 46%

คปภ. เผย 7 วันอันตรายสงกรานต์ มอเตอร์ไซค์ครองแชมป์เกิดอุบัติเหตุ พบไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. 46% ย้ำเจ้าของรถ3ผู้ครอบครองรถทุกคัน ต้องมีประกันภัย พ.ร.บ. ฝ่าฝืนปรับสูงสุด 1 หมื่นบาท

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูล ในช่วง 7 วันอันตราย (11- 17 เม.ย. 2566) ข้อมูลจาก ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ระบุว่า เกิดอุบัติเหตุรวม 2,203 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 264 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,208 ราย

shutterstock 1879426141

สำหรับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้านการประกันภัย สำนักงาน คปภ. ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. ภาค 1-9 ณ วันที่ 18 เมษายน 2566 มีการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นและค่าสินไหมทดแทน จำนวน 70 ราย เป็นจำนวนเงิน 3,368,508 บาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 มีการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นและค่าสินไหมทดแทน จำนวน 139 ราย เป็นจำนวนเงิน 5,145,145 บาท

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้บริษัทประกันภัย เร่งประเมินความเสียหาย และจ่ายค่าสินไหมทดแทนด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้ระบบประกันภัย เป็นเครื่องมือที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

ขณะเดียวกัน ยังพบว่า รถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุสูงสุดถึง 75.25% และในจำนวนรถจักรยายนต์ที่เกิดอุบัติเหตุมี 53.47% ที่ทำประกันภัย พ.ร.บ. ภาคบังคับ และ 46.53% ที่ไม่ได้ทำประกันภัย พรบ. ภาคบังคับ

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีรถที่อยู่นอกระบบการประกันภัย พ.ร.บ. อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีเจ้าของรถจำนวนมากที่ยังขาดความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการมีประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัย หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นจากการใช้รถใช้ถนน

คปภ.2

ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 ที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ.  ได้ออก 8 มาตรการ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังเทศกาลสงกรานต์ ดังนี้

มาตรการที่ 1. เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรณรงค์ป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ กับศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่จังหวัดจัดตั้งขึ้น

มาตรการที่ 2. ร่วมกับจังหวัด ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงาน ของศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ณ จุดตรวจร่วม/จุดบริการร่วม รวมทั้งประสานและประชุมกับเครือข่ายประกันภัยในพื้นที่ จัดตั้งศูนย์ฯ เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการข้อมูล และให้คำปรึกษาด้านการประกันภัย

มาตรการที่ 3. ประชาสัมพันธ์กรมธรรม์ประกันภัยกลุ่ม แฮปปี้สงกรานต์ (ไมโครอินชัวรันส์) เบี้ยประกันภัย 10 บาท ความคุ้มครองอุบัติเหตุสูงสุด 1 แสนบาท (ระยะเวลาการเอาประกันภัย 30 วัน) และคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลสูงสุด 5,000 บาท

มาตรการที่ 4. ประชาสัมพันธ์กรมธรรม์ประกันภัยสงกรานต์ บ้านหายห่วง (ไมโครอินชัวรันส์) เบี้ยประกันภัย 10 บาท ความคุ้มครองอุบัติเหตุสูงสุด 3 หมื่นบาท (ระยะเวลาการเอาประกันภัย 30 วัน) และคุ้มครองโจรกรรม 5,000 บาท

มาตรการที่ 5. จัดกิจกรรมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ผ่านสถานีวิทยุท้องถิ่น และ/หรือสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รวมถึงสื่อมวลชนในพื้นที่ และสอดแทรกการประชาสัมพันธ์ เรื่อง กรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มแฮปปี้สงกรานต์ และกรมธรรม์ประกันภัยสงกรานต์บ้านหายห่วง

คปภ 1

มาตรการที่ 6. ประชาสัมพันธ์ช่องทางที่จะใช้ในการติดต่อกับสำนักงาน คปภ. นอกเหนือจากสายด่วน คปภ. 1186 เช่น ประชาสัมพันธ์จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) เป็นต้น

มาตรการที่ 7. กรณีเกิดอุบัติเหตุรายใหญ่ สำนักงาน คปภ.ภาคและจังหวัด พร้อมลงพื้นที่โดยทันที เพื่อติดตามช่วยเหลือและตรวจสอบด้านการประกันภัยเบื้องต้น

มาตรการที่ 8. สั่งการให้สำนักงาน คปภ. ภาค 1-9 ติดตามและรายงานความเสียหายด้านประกันภัยที่เกิดขึ้น

กรณีฝ่าฝืนไม่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือหากเป็นผู้ที่ใช้รถที่ไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1 หมื่นบาท และหากเป็นทั้งเจ้าของรถที่ไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. และได้นำรถคันนั้นออกไปใช้เองจะมีความผิดทั้ง 2 ข้อหา โดยมีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท

ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จะยังคงมุ่งเน้นการรณรงค์เชิงรุกให้รถทุกคันทำประกันภัย พ.ร.บ. ทั่วประเทศ ทั้งนี้หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo