Stock

‘ดาวโจนส์’ ปิดตลาด ร่วง 184.41 จุด กังวล ‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’ ฉุด ‘เศรษฐกิจ’ ชะลอตัว

ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ของสหรัฐ ปิดซื้อขายวานนี้ (29 ส.ค.) โดยที่ “ดาวโจนส์”  ปรับตัวลงต่อเนื่องจากวันศุกร์ หลัง “เจอโรม พาวเวล” ส่งสัญญาณถึงการขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้อาจจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงก็ตาม

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดที่ 32,098.99 จุด ลดลง 184.41 จุด หรือ -0.57% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 4,030.61 จุด ลดลง 27.05 จุด หรือ -0.67% และดัชนีแนสแด็กปิดที่ 12,017.67 จุด ลดลง 124.04 จุด หรือ -1.02%

ดาวโจนส์

นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวในการประชุมประจำปีของเฟด ที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (26 ส.ค.) ว่า ภารกิจของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่เสร็จสิ้น โดยเฟดจะยังคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และตลาดแรงงานของสหรัฐ

นายพาวเวลยังกล่าวด้วยว่า หลังจากเสร็จสิ้นการใช้มาตรการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในปีหน้า

ถ้อยแถลงของนายพาวเวลส่งผลให้นักลงทุนปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของเฟด ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 66.5% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 กันยายนนี้ และให้น้ำหนักเพียง 33.5% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.50%

หุ้นกลุ่มเติบโต (Growth Stock) ซึ่งรวมถึงหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยร่วงลง หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 3.115%

แต่หุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้น จากราคาน้ำมัน WTI ทะยานขึ้นกว่า 4% โดยหุ้นโคโนโคฟิลลิปส์ บวก 0.92% หุ้นออคซิเดนเชียล ปิโตรเลียม พุ่งขึ้น 2.32% หุ้นเชฟรอน บวก 0.74% หุ้นเอ็กซอน โมบิล พุ่งขึ้น 2.30%

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ เฟดสาขาดัลลัสเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีชี้วัดกิจกรรมในภาคธุรกิจโดยรวมในรัฐเท็กซัสปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -12.9 ในเดือนสิงหาคม สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ -22.6 ในเดือนกรกฎาคม

อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงมีค่าเป็นลบ ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิตในรัฐเท็กซัส โดยดัชนีหดตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน หลังถูกกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ภาคธุรกิจยังคงขาดความเชื่อมั่นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo