Stock

10 เรื่อง ‘โอ้กะจู๋’ จากสวนผักเชียงใหม่ สู่ร้านอาหารสุขภาพที่เติบโต เตรียมเข้า IPO

10 เรื่องน่ารู้กับ  “โอ้กะจู๋” จากสวนผักเชียงใหม่ สู่ร้านอาหารสุขภาพ ที่เติบโตเตรียมเข้า IPO

เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจมากสำหรับ บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โอ้กะจู๋” ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ จากจังหวัดเชียงใหม่ ตอนนี้มีมากกว่า 30 สาขาทั่วประเทศ

ล่าสุดได้ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เตรียมเสนอขายหุ้น IPO เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) แล้ว และนี่คือ 10 เรื่องน่ารู้ของว่าที่หุ้นร้านอาหารสุขภาพโอ้กะจู๋ สรุปมาให้ครบตั้งแต่ที่มาที่ไป ความน่าสนใจทางธุรกิจ ตัวเลขทางการเงิน และโอกาสการเติบโตในอนาคต

อาหารสุขภาพ
ภาพ: เพจสวนผัก โอ้กะจู๋

1. จุดเริ่มต้นธุรกิจปลูกผักเพราะรักแม่

โอ้กะจู๋ มีจุดกำเนินมาจาก 3 เพื่อนผู้ร่วมก่อตั้ง นายชลากร เอกชัยพัฒนกุล (อู๋), นายจิรายุทธ ภูวพูนผล (โจ้) และนายวรเดช สุชัยบุญศิริ (ต้อง) ที่ต้องการปลูกผักออร์แกนิค 100% เริ่มทำแปลงผักครั้งแรกในปี 2553 ด้วยคอนเซ็ปต์ “ปลูกผักเพราะรักแม่” ผ่านการปลูกผักเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติ ไม่พึ่งพาสารเคมี และนำผลผลิตที่ได้ไปประกอบอาหารรับประทานในครอบครัว และส่งขายร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่

2. ร้านอาหารโอ้กะจู๋ Be Organic from Farm to Table

กระทั่งปี 2556 จึงต่อยอดแปลงผักสู่ธุรกิจร้านอาหารเพื่อสุขภาพ “โอ้กะจู๋” เปิดสาขาแรกที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ โดยจัดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพประเภทต่างๆ เช่น สลัด, สเต็ก, สปาเก็ตตี้, อาหารจานเดียว, ขนมหวาน, น้ำผักผลไม้, เบเกอรี่, กาแฟ เป็นต้น

3. การเติบโตอย่างต่อเนื่องของโอ้กะจู๋

ร้านอาหารโอ้กะจู๋ ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนปี 2558 สามารถขยายสาขาที่ 2 ตั้งอยู่ในโครงการนิ่มซิตี้ เดลี่ จังหวัดเชียงใหม่ และในปี 2560 ก็รุกเข้ามาสู่กรุงเทพฯ เปิดสาขาที่ 3 ตั้งอยู่ในสยามสแควร์ กระทั่งปัจจุบันบริษัทมีร้านอาหารมากกว่า 30 สาขาทั่วประเทศ

4. OR เข้ามาเป็นพันธมิตรกับ และถือหุ้นใหญ่ 20%

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 2564 หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย บริษัทได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 225 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าลงทุนของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ด้วยการเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท รวมเป็นสัดส่วน 20% ของทั้งหมด

อาหารสุขภาพ

การมีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ทำให้โอ้กะจู๋ขยายสาขาและต่อยอดธุรกิจได้มากขึ้น เช่น ช่องทางใหม่ในปั๊มน้ำมัน PTT Station, ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายใน Café Amazon, เปิดร้านอาหารรูปแบบ Delivery พร้อมบริการ Drive Thru, ขยายสาขาไปยังจังหวัดสำคัญอื่นๆ  พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ เบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ น้ำผักผลไม้, ขยายธุรกิจบริการจัดเลี้ยง (Catering) และเริ่มเปิดใช้ครัวกลาง

5. สรุปโครงสร้างธุรกิจ

ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. ธุรกิจบริการและจำหน่ายร้านอาหาร “โอ้กะจู๋” โดยมี 4 ช่องทางจำหน่ายหลัก คือ Full-service Restaurant, Delivery and Kiosk, Café Amazon และ Supermarket

2. ธุรกิจร้านอาหารประเภทจานด่วน (Quick Service Restaurant: QSR) “Ohkajhu Wrap & Roll” จำหน่ายสลัด แร๊พสลัด แซนวิช เบอร์เกอร์ และเมนูสุขภาพแบบ Grab & Go

3. ธุรกิจร้านน้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพ “Oh Juice” ได้แก่ น้ำผักออร์แกนิคและผลไม้ที่จำหน่ายในร้านโอ้กะจู๋ มาพัฒนาสูตรเป็นเมนูสุขภาพและเสริมคุณค่าโภชนาการเหมาะกับคนทุกวัย อาหารสุขภาพ

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะเปิดร้าน Ohkajhu Wrap & Roll และร้าน Oh Juice สาขาแรก ภายในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้

อาหารสุขภาพ

6. สัดส่วนรายได้ของบริษัท

รายได้ของโอ้กะจู๋เกือบทั้งหมดมาจากธุรกิจบริการและจำหน่ายอาหาร ภายใต้แบรนด์โอ้กะจู๋ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 99.4 – 99.8% ของรายได้รวมทั้งปี สำหรับปี 2566 โครงสร้างรายได้เป็นดังนี้

– Full-service Restaurant  รายได้ 1,614.27 ล้านบาท  สัดส่วน 94.03%
– Delivery and Kiosk  รายได้ 68.72 ล้านบาท  สัดส่วน 4.00%
– Cafe Amazon  รายได้ 20.15  สัดส่วน 1.77%
– Supermarket  รายได้ 9.68 ล้านบาท  สัดส่วน 0.56%
– อื่นๆ  รายได้ 4.02 ล้านบาท  สัดส่วน 0.23%

7. ผลประกอบการย้อนหลัง ร้านอาหารสุขภาพ

ในช่วงปี 2564-2566 ร้านอาหารโอ้กะจู๋ มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก 803.02 ล้านบาท 1,214.91 ล้านบาท และ 1,716.85 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโต 41-51% จากทั้งการฟื้นตัวของรายได้สาขาเดิม และรายได้ที่เพิ่มเติมจากสาขาที่เปิดใหม่ ขณะที่กำไรสุทธิปี 2564-2566 อยู่ที่ -84.55 ล้านบาท 38.32 ล้านบาท และ 140.65 ล้านบาท ตามลำดับ

8. สินทรัพย์รวมและหนี้สิน

อาหารสุขภาพ
ภาพ: เพจสวนผัก โอ้กะจู๋

บริษัทมีสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 เท่ากับ 1,349.9 ล้านบาท ส่วนใหญ่ประกอบด้วยที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ สินทรัพย์สิทธิการใช้เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด และสินค้าคงเหลือ

หนี้สินรวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 เท่ากับ 772.0 ล้านบาท ส่วนใหญ่ประกอบด้วยเจ้าหนี้การค้าและ เจ้าหนี้อื่น เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน และหนี้สินตามสัญญาเช่า ทำให้บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 1.34 เท่า

9. จุดเด่นและเป้าหมายการเติบโตของอาหารสุขภาพ

ความน่าสนใจของบริษัทคือการรวม 3 ผู้บริหารที่เชี่ยวชาญหลากหลาย มาผสมผสานร่วมกันสร้างธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น ขยายให้เติบโต ปรับตัวผ่านวิกฤตต่างๆ และยังคงมุ่งมั่นพัฒนาบริษัทอย่างต่อเนื่อง “อู๋” เชี่ยวชาญด้านการตลาด การบริหารธุรกิจ รวมถึงชื่นชอบในการทำอาหาร “โจ้” เชี่ยวชาญด้านการเกษตร และกระบวนการเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการ “ต้อง” เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ความรู้ด้านเครื่องจักรทางการเกษตร การสร้างโรงเรือน และวิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดยบริษัทมีเป้าหมายมุ่งมั่นเดินบนวิถีอินทรีย์ที่ดีต่อตัวเราและสังคม ตอกย้ำการเป็น ‘The King of Organic Salad’ ของประเทศไทย

อาหารสุขภาพ

10. รายละเอียดการเสนอขาย IPO หุ้น OKJ

บมจ. ปลูกผักเพราะรักแม่ เตรียมเข้าจดทะเบียนใน SET โดยใช้ชื่อย่อ OKJ เสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 159 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 26.1% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท โดยแต่งตั้ง บล. บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งจะนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ขยายสาขา เพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน