Stock

5 เรื่องต้องรู้ ทำอย่างไรเมื่อ ‘หุ้นกู้’ ในมือส่อแววผิดนัดชำระ!!

ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง แม้ว่าการลงทุนในหุ้นกู้มีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในหุ้น แต่! เราต้องทำอย่างไรเมื่อ “หุ้นกู้” ในมือส่อแววผิดนัดชำระ

ในปัจจุบันมีข่าวเกี่ยวกับหุ้นกู้ผิดนัดชำระให้เห็นเป็นระยะ ๆ หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า หุ้นกู้คืออะไร และการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ส่งผลอย่างไรบ้างต่อผู้ลงทุน รวมถึงตลาดหุ้น บทความนี้จะเล่าให้ฟัง

หุ้นกู้

หุ้นกู้คืออะไร? ทำไมถึงน่าลงทุน

หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ที่บริษัทเอกชนเป็นผู้ออก หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ บริษัทมาขอยืมเงินจากนักลงทุนเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังนั้นแปลว่า บริษัทมีฐานะเป็นลูกหนี้ ส่วนนักลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้

ในกรณีที่รัฐบาลเป็นผู้ออกตราสารหนี้ จะเรียกว่าพันธบัตรรัฐบาล แยกชื่อให้ชัดเจน จะได้ไม่สับสน แต่คุณลักษณะเหมือนกัน คือมีความเป็นลูกหนี้ และเจ้าหนี้ ซึ่งออกมาเพื่อยืมเงิน หรือระดมทุนไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ เช่นเดียวกัน

หุ้นกู้ที่ออกจำหน่ายจะต้องระบุข้อมูล ดังนี้

  • ระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอน หรืออายุหุ้นกู้
  • มูลค่าที่ตราไว้ หรือมูลค่าเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ซึ่งเป็นเงินต้นที่ผู้กู้ต้องชำระคืน ณ วันครบกำหนดไถ่ถอน โดยปกติจะเท่ากับ 1,000 บาท
  • อัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้บนใบหุ้นกู้ ซึ่งแสดงถึงร้อยละของมูลค่าที่ตราไว้ โดยมักจะจ่ายเป็นรายปีหรือปีละ 2 ครั้ง หรืออาจมีบางรุ่นที่จ่ายปีละ 4 ครั้ง แต่ต้องระบุให้ชัดเจน

หุ้นกู้

ทำไมหลายคนชื่นชอบในการลงทุนหุ้นกู้

1. หุ้นกู้ของบริษัทเอกชนมันจะให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล

เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยไม่มีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Risk-free) เนื่องจากมีรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ออกตราสารหนี้ ในขณะที่หุ้นกู้ของบริษัทเอกชนจะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันไปตามความสามารถในการชำระหนี้

ซึ่งนักลงทุนสามารถอ้างอิงได้จากอันดับความน่าเชื่อถือ (AAA to D Rating) ดังนั้นหากพันธบัตร หรือหุ้นกู้ที่มีอายุเท่ากัน ก็แน่นอนว่า เอกชนมีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้มากกว่า ดังนั้นหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนจึงมีการเสนอดอกเบี้ยที่สูงกว่าเพื่อเป็นการชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น เข้าตำราที่ว่า High Risk High Return

2. หุ้นกู้เป็นแหล่งที่ให้รายได้ประจำ คือ มีผลตอบแทนตายตัวระหว่างทางที่ถือหุ้นกู้นั้น

เนื่องจากการจ่ายดอกเบี้ย และชำระคืนเงินต้นของหุ้นกู้ ได้ระบุไว้แน่นอน ณ วันที่ออกและกำหนดเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดอายุหุ้นกู้ ดังนั้นผู้ซื้อหรือผู้ถือหุ้นกู้จะทราบถึงกระแสเงินสดในอนาคตที่จะได้รับ นับจากวันที่ออกหุ้นกู้จนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอน

เช่น ลงทุน 100,000 บาท ในหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทน 5% ต่อปี จ่ายผลตอบแทนปีละ 2 ครั้ง เราก็จะได้ผลตอบแทน ทุก 6 เดือน ครั้งละ 2,500 บาท (ยังไม่ได้คิดหักภาษีดอกเบี้ยอีก 15%) แล้วพอจบระยะเวลาก็จะได้รับเงินต้นที่เราลงทุน 100,000 บาทคืน

3. เป็นทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

นักลงทุนหลายคนต้องการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการเงินตัวเอง เหมือนกับคำพูดที่พูดว่า อย่าใส่ไข่หลายใบไว้ในตะกร้าเดียวกัน ดังนั้นถือเป็นกลยุทธ์การลงทุนอย่างหนึ่ง

4. หุ้นกู้บางตัว สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ในตลาดรองโดยที่ไม่ต้องรอวันครบกำหนด

ในบางครั้งนักลงทุนอาจต้องการเงินออกมาก่อน ในบางรุ่นมีสภาพคล่อง มีคนอยากได้ ก็จะสามารถเปลี่ยนมือได้

หุ้นกู้

หุ้นกู้เหมาะกับใคร? สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนซื้อหุ้นกู้มีอะไรบ้าง

“หุ้นกู้” ก็คือการลงทุนประเภทหนึ่ง ที่แน่นอนว่าจะต้องมีความเสี่ยงตามมา ดังนั้นการลงทุนในหุ้นกู้จึงเหมาะกับคนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ แม้ว่าหุ้นกู้จัดว่ามีความเสี่ยงปานกลาง แต่เราก็ต้องยอมรับว่าหากบริษัทผิดนัดชำระเงินต้นเราสามารถสูญได้หมด สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนต้องเข้าใจ นอกจากนี้เหมาะกับคนที่มีเงินเย็นระดับหนึ่ง เพราะหุ้นกู้ส่วนมากจะต้องถือเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี

หากเลือกลงทุนในหุ้นกู้ระยะยาวแต่ไม่สามารถถือไว้จนครบกำหนดอายุหุ้นกู้แล้วต้องนำไปขายในตลาดรอง อาจทำให้ต้องขายขาดทุน หรือไม่ได้รับเงินตามที่ควรจะได้เหมือนกับการถือจนครบอายุนั่นเอง

สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนซื้อหุ้นกู้มีอะไรบ้าง?

ก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง สิ่งแรกที่ควรทำคือ เราควรต้องศึกษา และทำความเข้าใจข้อมูลของหุ้นกู้ และบริษัทผู้ออกหุ้นกู้นั้น ๆ โดยสามารถศึกษา ข้อมูลได้จาก Factsheet หรือหนังสือชี้ชวนแบบสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร ในนั้นจะมีข้อมูล หุ้นกู้ที่จะลงทุนมีลักษณะอย่างไร มีอายุ และอัตราดอกเบี้ยเป็นอย่างไร มีหลักประกัน หรือเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิหรือไม่ เงินที่ระดมทุนได้จะนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด รวมถึงผู้ออกมีสถานะทางการเงิน และอันดับความน่าเชื่อถือเป็นอย่างไร และมีความเสี่ยงด้านใดบ้าง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อใช้ในการตัดสินใจในการเลือกลงทุนหุ้นกู้นั้น ซึ่งเราสามารถดูข้อมูลหุ้นกู้ที่จะออกได้ที่ market.sec.or.th

หากเราลงทุนในหุ้นกู้แล้ว เราควรติดตามข้อมูลข่าวบริษัทอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะงบการเงินซึ่งบ่งบอกถึงฐานะการเงินของบริษัท นอกจากนี้เราอาจจะดูข้อมูลจาก Credit Rating ที่จัดอันดับ ว่าหุ้นกู้ที่เราลงทุนไปนั้นมีการจัดอันดับเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากเปลี่ยนไปในทิศทางด้อยลง ก็อาจจะต้องดูเป็นพิเศษ

นอกจากนี้นักลงทุนบางคนลงทุนใน High Yield Bond พูดง่าย ๆ ก็คือ บริษัทผู้ออกได้ Credit Rating น้อย เช่น BBB – ลงมา ก็อาจจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะหุ้นกู้ประเภทนี้มักให้ดอกเบี้ยที่สูงเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสที่ High Yield Bond จะมีโอกาสผิดนัดชำระมากกว่า Investment Grade Bond

หุ้นกู้

หากหุ้นกู้ผิดนัดชำระ เราควรทำอย่างไร?

เมื่อลงทุนในหุ้นกู้ไปแล้วแน่นอนว่าเราคงไม่อยากเห็นหุ้นกู้ที่เราถืออยู่ผิดนัดชำระหนี้ เพราะนั่นหมายถึงโอกาสสูญเสียเงินต้น และผลตอบแทนไปทั้งหมด แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เราต้องตั้งสติ ศึกษาข้อมูล และเตรียมเอกสาร รวมถึงเตรียมใจให้พร้อม เพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตัวเอง ดังนั้นเราในฐานะผู้ถือหุ้นกู้ก็ต้องเตรียมตัวเพื่อรักษาสิทธิ และผลประโยชน์ของตัวเอง ดังนี้

1. หาใบหุ้นกู้เพื่อดูว่าผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เราเป็นใคร

ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ คือ ผู้ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาผลประโยชน์ทุกอย่างของผู้ลงทุน พูดง่าย ๆ คือ จะคอยดูแลว่าผู้ออกหุ้นกู้ได้ทำตามเงื่อนไขที่มีในหุ้นกู้ ครบถ้วนหรือไม่ และหากผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะเป็นผู้เรียกจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อหาข้อสรุป หลังจากนั้นหากผู้ออกหุ้นกู้ไม่ปฏิบัติตาม ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะดำเนินการเรียกร้องให้ชำระหนี้ บังคับหลักประกัน และเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้จากเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เป็นผู้ที่มีบทบาทมากในการช่วยฟ้องร้อง บังคับหลักประกัน และเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน ให้ข้อมูลต่างๆกับนักลงทุน

2. ต้องรู้ว่าตัวเองถือหุ้นกู้ประเภทใด? และรุ่นไหน

เราต้องดูว่าหุ้นกู้ที่ถืออยู่เป็นหุ้นกู้ประเภทใดเพื่อดูสิทธิ์ลำดับในการชำระ เช่น หุ้นกู้ด้อยสิทธิ หรือไม่ด้อยสิทธิ หุ้นกู้ที่ถือมีหลักประกันหรือไม่ หากหุ้นกู้ที่ถือมีหลักประกัน หากบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ล้มละลาย หรือมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ หรือมีคำสั่งให้ต้องขายสินทรัพย์ทอดตลาดเพื่อชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้ และผู้ถือหุ้น จะได้รับคืนตามสัดส่วนตามลำดับสิทธิ์ เท่านั้น

3. ลำดับสิทธิ์ในการชำระคืนหุ้นกู้

หุ้นกู้มีประกัน -> หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ -> หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและด้อยสิทธิ -> หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน -> หุ้นบุริมสิทธิ -> หุ้นสามัญ

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบลำดับการชำระหนี้ของหุ้นกู้รุ่นที่ตัวเองถือครองได้จากสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (Factsheet) ของหุ้นกู้ ซึ่งจะมีลำดับการชำระหนี้แจ้งอยู่

ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงแม้ว่าการลงทุนในหุ้นกู้มีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในหุ้น แต่ก็มีความเสี่ยงสูงสุดที่อาจเกิดได้คือการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งข้อนี้เป็นสิ่งที่เราควรนำมาพิจารณาทำความเข้าใจอย่างละเอียดถี่ถ้วน และรอบด้าน และอย่าลืมกระจายความเสี่ยงโดยการจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ตัวเองสามารถยอมรับได้ และการกระจายไปในหลายสินทรัพย์ เพื่อรองรับหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น

ขอบคุณ Krungsri The COACH

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK