Personal Finance

เมื่อมนุษย์เงินเดือนมีแค่ประกันสังคม! จะรักษาโรคร้ายแรงเพียงพอหรือไม่?

แม้ “มนุษย์เงินเดือน” จะมีสิทธิประกันสังคมที่สามารถใช้สิทธิรักษาโรคร้ายแรงตามข้อกำหนด แต่หากมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ หรือโรคร้ายแรงนั้นอยู่นอกเหนือสิทธิจะทำอย่างไร

แม้มนุษย์เงินเดือนจะมีสิทธิประกันสังคมที่ให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ซึ่งสามารถใช้สิทธิรักษาโรคร้ายแรงตามข้อกำหนดของโรงพยาบาลตามสิทธิผู้ประกันตน แต่หากมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ หรือโรคร้ายแรงนั้นอยู่นอกเหนือสิทธิ อาจมีค่าใช้จ่ายก้อนโตตามมาและอาจส่งผลต่อเงินเก็บ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่สิทธิประกันสังคมอาจไม่ครอบคลุมค่ารักษา มนุษย์เงินเดือนควรพิจารณาวางแผนทำประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรงไว้ด้วย เพื่อช่วยปกป้องเงินออม ไม่ให้หมดไปกับการรักษาทั้งหมด

โรคร้ายแรง

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เก็บข้อมูลสถิติโรคมะเร็งของคนไทยในปี 2557 พบว่ามีผู้ป่วยใหม่ประมาณ 120,000 คน และได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 140,000 คนในปี 2565 คำถามที่ตามมา เมื่อตรวจพบโรคร้ายนี้ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูง การมีแค่สวัสดิการประกันสังคมเพียงอย่างเดียวจะเพียงพอหรือไม่ ?

เมื่อพูดถึงประกันสุขภาพของมนุษย์เงินเดือน พบว่ามีอยู่ระดับขั้นพื้นฐานเกือบทุกคน เพราะทุกบริษัทจะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน ทำให้พนักงานได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากประกันสังคม และหากพิจารณาในส่วนค่ารักษาพยาบาลเกี่ยวกับโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง ประกันสังคมจะครอบคลุมการรักษาโรคมะเร็งได้ 20 ชนิด (ตรวจสอบรายละเอียดได้ที่สำนักงานประกันสังคม หรือเว็บไซต์ www.sso.go.th)

โดยค่ารักษาพยาบาลจะจ่ายจริงตามความจำเป็น โดยสถานพยาบาลที่เลือกไว้จะให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนจนสิ้นสุดการรักษา ไม่จำกัดวงเงินค่าใช้จ่ายและจำนวนครั้งในการรักษา และไม่เรียกเก็บเงินจากผู้ประกันตน ซึ่งกรณีที่ไม่สามารถรักษาตามแนวทางที่กำหนด (Protocol) หรือการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่น (นอกเหนือจากโรคมะเร็ง 20 ชนิด) สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อรายต่อปี

สมมติว่าเรามีสวัสดิการประกันสังคมเพียงอย่างเดียว หากเป็นโรคมะเร็งใน 20 ชนิดตามที่กำหนด ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอาจจะครอบคลุมเกือบทั้งหมดของการรักษา แต่ในกรณีที่ตรวจพบโรคมะเร็งและไม่อยู่ใน 20 ชนิดดังกล่าวหรือต้องใช้ยาที่ไม่ได้มีในรายการที่ประกันสังคมกำหนด ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ขณะเดียวกันต้องมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าอาหารเสริม ค่าเดินทางไปรักษาตัว เป็นต้น โดยรายจ่ายเหล่านี้ไม่ได้รวมเอาไว้ในค่ารักษาพยาบาล

ประกันสังคม

หากมีสวัสดิการประกันสังคมเพียงช่องทางเดียว ค่ารักษาอาจไม่สามารถครอบคลุม ดังนั้น มนุษย์เงินเดือนควรป้องกันความเสี่ยงด้วยการวางแผนทางการเงินเพิ่มเติม เพื่อช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายและรักษาความมั่งคั่ง กรณีที่ตัวเองตรวจพบโรคมะเร็ง ด้วยการเลือกแบบประกันป้องกันความเสี่ยง คือ ประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรง โดยเมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคร้ายแรง บริษัทประกันจะจ่ายเงินสดทันที ผู้ทำประกันก็สามารถนำเงินเตรียมไว้ใช้จ่ายเพื่อการรักษา และยังมีค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่ไม่สามารถเบิกกับประกันสังคมได้

เทคนิคเลือกซื้อประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรง สำหรับมนุษย์เงินเดือน

ช่วงอายุการรับประกัน

โดยควรเลือกกรมธรรม์ที่มีช่วงอายุการรับประกันที่สอดคล้องกับอายุของผู้ทำประกันและสามารถขยายระยะเวลาความคุ้มครองได้นานที่สุด เพราะจะช่วยให้มีความคุ้มครองต่อโรคมะเร็งได้อย่างยาวนาน โดยไม่ต้องรับความเสี่ยงไว้เอง

วงเงินความคุ้มครอง

เลือกจากวงเงินความคุ้มครองต่อปี ขั้นต่ำควรจะอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลทั้งโรคทั่วไปและโรคร้ายแรง ส่วนประกันคุ้มครองโรคร้ายแรงที่เน้นรับเงินก้อนเมื่อตรวจพบเพื่อสามารถนำไปเป็นค่ารักษาในยาหรือนวัตกรรมใหม่ ที่ช่วยให้คุณภาพการรักษาพยาบาลดียิ่งขึ้นและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และมีระยะเวลาที่คุ้มครองยาว เช่น คุ้มครองจนถึงอายุ 99 ปี

ประกันสังคม

ค่าเบี้ยประกันอยู่ในระดับที่รับได้

ค่าเบี้ยประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ เป็นพันธะผูกพันในระยะยาวของเรา จึงจำเป็นต้องประเมินความสามารถในการจ่ายเบี้ยระยะยาวของตัวเราด้วย เพราะหากไม่สามารถจ่ายเบี้ยได้ครบไปได้ตลอดอายุกรมธรรม์ จะส่งผลถึงความคุ้มครองและผลประโยชน์ที่เราจะได้รับ ซึ่งการเริ่มทำประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงฉบับใหม่ สุขภาพของเราที่อาจไม่เหมือนเดิมตั้งแต่ตอนแรกที่เริ่มทำ อาจส่งผลให้ไม่สามารถทำประกันฉบับใหม่ได้ หรือต้องมีการเพิ่มเบี้ยประกันที่สูงขึ้นกว่าเดิมมาก

บริษัทประกันที่มีฐานะทางการเงินมั่นคง

ควรพิจารณางบการเงินของบริษัทประกัน เช่น รายได้ รายจ่าย กำไร สถานะทางการเงินว่ามีความมั่นคงทางการเงิน มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีหรือไม่ ที่สำคัญควรพิจารณาอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio : CAR) ซึ่งไม่ควรต่ำกว่า 140% รวมถึงเลือกทำประกันกับบริษัทที่ไม่เคยมีปัญหาในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน

หลายคนอาจมองว่าการวางแผนทางการเงิน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยอาจไม่คุ้มค่า แต่ความเป็นจริงเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น ตรวจพบโรคร้ายแรง อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อความมั่งคั่งที่สะสมมา ดังนั้น ควรป้องกันความเสี่ยงด้วยการซื้อประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง เพราะนอกเหนือจากสิทธิประกันสังคม การที่มีเงินมารักษาตัวมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่จะหายก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และช่วยปกป้องเงินออมไม่ให้หมดไปกับการรักษาตัวทั้งหมดได้

โดย จตุรพร ระวิงทอง AFPT™ Assistant Wealth Manager ธนาคารทิสโก้ และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK