Finance

คาด ‘ธนาคารกรุงเทพ’ มาวิน!! คว้าแชมป์กำไรทะลัก

เข้าสู่ช่วงเวลาที่ดัชนีตลาดหุ้นอยู่ระหว่างการปรับฐานอีกครั้ง ขณะที่กลุ่มสถาบันการเงิน ทยอยรายงานผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 3 และงวด 9 เดือนของปีนี้ ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลของโบรกเกอร์ที่ได้ประเมินส่วนใหญ่คาดว่า ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2561 กลุ่มสถาบันการเงินมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 5 – 9% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน แต่จะลดลงหากเทียบจากงวดไตรมาส 2 ปี 2561 และส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL จะเป็นแบงก์ที่มีการเติบโตของกำไรมากสุด

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ประเมินว่า ในงวดไตรมาส 3 ปี 2561 คาดว่าธนาคารที่มีกำไรสุทธิดีสุดคือ แบงก์ BBL ส่วนกำไรจากการดำเนินงานดีสุดคือ แบงก์เกียรตินาคิน (KKP) ซึ่งคงจัดลำดับให้ทั้ง 2 แบงก์เป็นหุ้นเด่นในหมวดธนาคารพาณิชย์

ฝ่ายวิจัยคาดว่าภาพรวมกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปีนี้ กลุ่มธนาคารจะมีกำไรสุทธิราว 4.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9%เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันปีก่อน แต่จะลดลง 6.8% เมื่อเทียบจากงวดไตรมาส 2 ปี 2561 เนื่องจากความต้องการสินเชื่อมากขึ้น และการตั้งสำรองปรับลดลง ขณะเดียวกัน รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ได้แก่ ค่าธรรมเนียมกลับปรับลดลง รวมทั้งต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น”

ด้าน บล.เอเซียพลัส ระบุว่า ฝ่ายวิจัยประเมินธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งที่ศึกษามีกำไร 5.18 หมื่นล้านบาท ลดลง 3%จากงวดไตรมาส 2 ปี 2561 แต่เพิ่มขึ้น 9.2% จากงวดเดียวกันปีก่อน เนื่องจากจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และรายได้อื่นๆ ลดลง ซึ่งหักล้างรายได้ดอกเบี้ยที่เติบโตจากลูกค้าทุกกลุ่ม แต่ประเด็นความเสี่ยงคือสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย มีแนวโน้มจะตกชั้นเป็นหนี้ที่มีปัญหา ซึ่งเป็นผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.) ได้ออกหลักเกณฑ์ใหม่ควบคุม มีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2562 แม้ทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอตัว แต่น่าจะทำให้คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น ฝ่ายวิจัยยังคงชอบหุ้น BBL, หุ้น TCAP

บล.ฟินันเซียไซรัส คาดว่า BBLจะเป็นหนึ่งในไม่กี่แบงก์ที่คาดว่ากำไรไตรมาส 3 ปี 2561 จะเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และงวดเดียวกันปีก่อน ซึ่งฝ่ายวิจัยคาดว่า จะมีกำไร 9,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาส 2 ปี 2561 และเพิ่มขึ้น 14% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยค่าใช้จ่ายสำรองที่คาดจะลดลง 23.5% จากงวดไตรมาส 2 ปี 2561 อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแบงก์ใหญ่จะได้ประโยชน์จากทั้งการขยายตัวของเศรษกิจและการลงทุน รวมถึงดอกเบี้ยในประเทศที่กำลังเป็นขาขึ้น ขณะที่ราคาหุ้น BBL ยังต่ำกว่าบุ๊ค แต่เคลื่อนไหวแข็งแรงกว่าในกลุ่มช่วง 1 – 3 เดือนที่ผ่านมา และเป็นแบงก์เดียวที่ NVDR ซื้อเพิ่มอีกด้วย

ประมาณการกำไรของหุ้นBBL5 01

เช่นเดียวกับบล.ทิสโก้ ประเมินว่า หุ้น BBL ยังคงติด 1 ใน 5 ของหุ้นที่น่าลงทุนในเดือนตุลาคมนี้ เนื่องจากนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ คาดกำไรไตรมาส 3 ปีนี้อยู่ที่ 8.85 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5% จากงวดเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 3.6% จากไตรมาส 2 ปี 2561 และมองแนวโน้มกำไรปีหน้าจะโตดีขึ้น เนื่องจาก NPL น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และแนวโน้มสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับทิศทางดอกเบี้ยคาดจะเริ่มปรับขึ้นได้ในปีหน้า

ทั้งนี้ จะเห็นว่า ราคาหุ้นปัจจุบันต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานหรือ บุ๊คแวลู ( BV) เล็กน้อย และมีเงินปันผลสูงกว่า 3% ต่อปี รวมทั้งส่วนใหญ่ให้เป้าพื้นฐาน 235 บาทต่อหุ้น

สำหรับ บล.ทรีนีตี้  คาดว่า แบงก์กรุงเทพจะมีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 3 ปีนี้อยู่ที่ 9,196 ล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาส 2 แต่ยังเติบโต 13% จากงวดเดียวกันกันของปีก่อน โดยมีประเด็นสำคัญคือ คาดรายได้ดอกเบี้ยสุทธิทรงตัวจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เนื่องจากสินเชื่ออาจหดตัวเล็กน้อยจากสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้น ขณะที่ NIM คาดว่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน

ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง 11% จากงวดไตรมาส 2 โดยเกิดจากการลดลงของรายได้อื่น อาทิ กำไรจากการขายเงินลงทุน กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน (Fx) และรายได้ปันผลรับ อย่างไรก็ตามคาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจะเติบโตได้จากการขายประกันร่วมกับ AIA

อย่างไรก็ตาม คาดว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน เมื่อเทียบกับรายได้รวมที่อ่อนตัวลงแล้ว ทำให้ Cost-to-income ratio เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 44.7% รวมทั้ง ปัจจัยหนุนสำคัญในไตรมาสนี้คาดว่าจะมาจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ที่ลดลงจากไตรมาสก่อน โดยคาดอยู่ที่ 5,383 ล้านบาท ลดลง 18% จากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เนื่องจากมองว่ามีโอกาสที่คุณภาพหนี้จะปรับตัวดีขึ้น บวกกับความจำเป็นในการตั้งสำรองพิเศษลดลง

นอกจากนี้แนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี รายได้ค่าธรรมเนียมอยู่ดิจิทัลที่ลดลงตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2561จะเป็นแรงกดดัน แต่ยังมีแรงหนุนจากการขายประกันร่วมกับ AIA ช่วยชดเชยได้บ้าง ด้านการเติบโตของสินเชื่อโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่จะหนุนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ รวมถึงแนวโน้มค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ที่อาจต่ำลงจากแนวโน้มคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงยังคงประมาณการกำไรปี 2561 ไว้ที่ 36,381 ล้านบาท เติบโต 10%จากงวดเดียวกันของปีก่อน  โดยกำไร 9 เดือนแรกคิดเป็นราว 75% ของประมาณการรวม

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่าราคาหุ้น BBL ตั้งแต่ต้นปีปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.96% จากราคา 202 บาท เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 210 บาท  และราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 201.53 บาท  โดยมีค่าพีอีเรโชอยู่ที่ 11.50 เท่า และมีราคาเทียบกับมูลค่าพื้นฐานหุ้น (PBV) อยู่ที่ระดับ 1 เท่า  ซึ่งอยู่ต่ำกว่าหุ้นแบงก์ที่มีขนาดใหญ่ในระดับเดียวกัน จึงเป็นหุ้นที่สามารถซื้อ เพื่อถือลงทุนได้ในระยะยาว

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight