Finance

เทคนิคกู้เงิน เมื่อเงินช็อต!!

ภาวะเงินช็อต หรือ เงินสดขาดมือ เป็นภาวะที่รายได้ไม่พอกับรายจ่ายแบบกะทันหัน ส่องเทคนิคกู้เงิน ทางเลือกเมื่อเงินช็อตที่นี่

ภาวะเงินช็อตหรือเงินสดขาดมือ เป็นภาวะที่รายได้ไม่พอกับรายจ่ายแบบกะทันหัน จึงต้องการเงินสดมาใช้จ่ายแบบด่วน ๆ เช่น จ่ายค่าเทอมลูก จ่ายค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

กู้เงิน

เมื่อเจอกับภาวะเงินขาดมือ หลายคนอาจตัดสินใจกู้เงินด้วยวิธีแบบเร่งด่วน ได้เงินเร็ว โดยเฉพาะการกู้หนี้นอกระบบ ผลที่ตามมา คือ ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง และอาจต้องใช้เวลาปลดหนี้นาน บทความนี้ จะแนะนำ 2 ทางเลือก เพื่อให้คุณมีเงินสดมาใช้จ่ายในระยะสั้น และไม่ต้องรอนาน

ในยุคดอกเบี้ยสูง หากกู้เงินก็จะต้องเผชิญกับภาระหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยในระดับสูง และเมื่อต้องผ่อนหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงอาจส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้เงินออมอาจลดลงและไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่น ๆ หรือมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงินหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันและต้องการใช้เงินทันที และอาจตามมาด้วยการไม่สามารถหาเงินมาผ่อนชำระหนี้ได้

ดังนั้น หากเป็นไปได้ “ควรหลีกเลี่ยงการกู้เงิน ในช่วงดอกเบี้ยสูง” แต่หาก “เงินขาดมือหรือหาเงินไม่ทันกับรายจ่าย” สิ่งแรกที่ควรพิจารณา คือ หารายได้เพิ่มหรือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น แต่หากไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการก่อหนี้ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในระยะสั้น เช่น 1-3 เดือน ควรถามตัวเองว่า “กู้เพื่ออะไร” และ “กู้นานแค่ไหน” เช่น ต้องการเงินเพื่อจ่ายค่าเทอมลูก โดยสัญญาว่าจะหาเงินมาจ่ายคืนให้หมดภายใน 3 เดือน เป็นต้น

ปัจจุบันมีทางเลือกให้กู้เงินแบบด่วน ๆ หลากหลาย ที่สำคัญอนุมัติเร็ว วงเงินสูง ขอเอกสารเพียงเล็กน้อย ไม่ยุ่งยาก ดังนั้น ก่อนตัดสินใจควรพิจารณาว่าจะกู้เงินด้วยวิธีไหนที่เหมาะสมที่สุด โดยทบทวนความจำเป็นก่อนตัดสินใจกู้ ด้วยการถามตัวเองว่าจำเป็นต้องใช้เงินก้อนนี้จริง ๆ หรือไม่ จากนั้นก็หาข้อมูล เปรียบเทียบตัวเลือก โดยดูวิธีการกู้เงิน ดูอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขต่าง ๆ จากนั้นนำมาคำนวณจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระ และตรวจสอบให้แน่ใจว่าสามารถผ่อนชำระหนี้ได้อย่างสบาย โดยไม่กระทบกับสภาพคล่องทางการเงิน และอย่าลืมเตรียมแผนสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉินไว้ด้วย

กู้เงิน

ทางเลือกเมื่อเงินช็อต

1. บัตรกดเงินสด

บัตรกดเงินสดเป็นสินเชื่อในรูปแบบของบัตรที่สถาบันการเงินหรือธนาคารออกให้แก่ลูกค้า เพื่อนำไปกดเงินสดผ่านตู้ ATM หรือกดเงินออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน โดยส่วนใหญ่ผู้ที่สมัครบัตรกดเงินสดเพื่อต้องการกดเงินมาใช้ยามฉุกเฉินตามวงเงินที่อนุมัติโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม โดยเมื่อกดเงินสดแล้ว สามารถเลือกได้ว่าจะชำระหนี้เต็มจำนวนหรือชำระหนี้ขั้นต่ำก็ได้ (เช่น 3 เดือน 6 เดือน หรือ 12 เดือน)

สำหรับอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของบัตรกดเงินสด ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกกฎให้สถาบันการเงินสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมได้ไม่เกิน 25% พร้อมคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก และถ้าไม่ได้ใช้บัตรกดเงินสดก็ไม่ต้องเสียค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น

โดยทั่วไปผู้ออกบัตรกดเงินสดจะให้วงเงินสินเชื่อคิดเป็นกี่เท่าของเงินเดือน เช่น 3 เท่า หรือ 5 เท่าของเงินเดือน เป็นต้น (วงเงินเป็นข้อกำหนดของแต่ละสถาบันการเงิน) ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ไม่สามารถสมัครบัตรเครดิตได้

สูตรคิดอัตราดอกเบี้ยบัตรกดเงินสด = เงินต้น x ดอกเบี้ย 25% x จำนวนวันนับตั้งแต่วันที่กดเงินสดจนถึงวันที่ชำระเงินคืน / 365 วัน

ตัวอย่างเช่น

  • กู้เงินผ่านบัตรกดเงินสด 10,000 บาท
  • คำนวณดอกเบี้ย 10,000 x 25% = 2,500 บาทต่อปี
  • คิดเป็นต่อวัน 2,500 / 365 วัน = 6.84 บาทต่อวัน
  • คิดต่อเดือน 6.84 x 30 วัน = 205 บาทต่อเดือน
  • กู้เงิน 10,000 บาท จ่ายดอกเบี้ย 205 บาทต่อเดือน
  • ต้นทุนเงินกู้ 10,000 บาท เท่ากับ 205 บาท (กรณีจ่ายจบครบภายในเดือน)

สมมติว่า กู้เงิน 10,000 บาท มีเป้าหมายผ่อนชำระ 3 เดือน (90 วัน) แสดงว่าต้องจ่ายดอกเบี้ย 615 บาท เมื่อรวมเงินต้น ต้องจ่ายทั้งหมด 10,615 บาท

2. เปลี่ยนวงเงินคงเหลือจากบัตรเครดิตมาเปลี่ยนเป็นเงินสด

หากถือบัตรเครดิต สามารถใช้บริการที่เรียกว่า เปลี่ยนวงเงินคงเหลือจากบัตรเครดิตมาเปลี่ยนเป็นเงินสด เพื่อนำมาใช้จ่ายยามฉุกเฉินได้ โดยเมื่อใช้บริการดังกล่าว ยอดเงินจะถูกโอนเข้าหมายเลขบัญชีที่เจ้าของบัตรเครดิตเลือกในทันที (ปัจจุบันใช้บริการผ่านแอปพลิชันของผู้ออกบัตรได้) พูดง่าย ๆ หากต้องการใช้เงินสด ก็สามารถเปลี่ยนวงเงินบัตรให้เป็นเงินสดล่วงหน้าผ่านบริการดังกล่าว แต่เงื่อนไขสำคัญ คือ จำนวนเงินที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้จะเป็นวงเงินคงเหลือในบัตรเครดิต

กู้เงิน

ตัวอย่างเช่น

วงเงินบัตรเครดิต 100,000 บาท มียอดค้างชำระ 20,000 บาท หากต้องการใช้บริการเปลี่ยนวงเงินคงเหลือจากบัตรเครดิตมาเปลี่ยนเป็นเงินสด จะได้เงินสดสูงสุด 80,000 บาท ดังนั้น ก่อนใช้บริการควรตรวจสอบยอดวงเงินคงเหลือของตัวเองว่าเหลือเท่าไหร่ จากนั้นตรวจสอบยอดเงินที่ต้องการผ่อนต่อเดือน อัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ (ตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชันหรือสอบถามกับเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน)

ข้อดี คือ ดอกเบี้ยไม่แรงประมาณ 15% ต่อปี สามารถกำหนดแบ่งการชำระได้หลากหลาย เช่น 6 เดือน, 10 เดือน, 18 เดือน หรือ 36 เดือน เป็นต้น และสามารถปิดยอดผ่อนชำระหนี้ก่อนครบกำหนดได้ (ตามเงื่อนไขของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง) แต่อย่าลืมว่ายิ่งใช้เวลานาน ต้นทุนการเงิน คือ ดอกเบี้ย ก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น เมื่อมีเงินก้อนก็ควรปิดหนี้ให้หมดเร็วที่สุด

คำแนะนำ

หากต้องการเงินก้อนเพื่อนำมาใช้จ่ายยามฉุกเฉิน ให้เลือกบริการเปลี่ยนวงเงินคงเหลือจากบัตรเครดิตมาเปลี่ยนเป็นเงินสด เพราะดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่ำกว่า แต่กรณีที่ไม่มีบัตรเครดิต หรือวงเงินบัตรเครดิตใกล้เต็มวงเงินแล้ว ควรใช้บริการบัตรกดเงินสด แต่ไม่ว่าจะเลือกใช้บริการประเภทใด เมื่อเป็นหนี้แล้วก็กำหนดเวลาในการเคลียร์หนี้ และมีวินัยในการชำระเงินคืนให้ตรงเวลา

ที่มา : พรพิมล ปฐมศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญการบริหารหนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK