Finance

‘กรุงศรี’ คาดเงินบาทสัปดาห์นี้แกว่งกรอบ 36.40-37.00 บาท/ดอลลาร์

“กรุงศรี” คาดเงินบาทสัปดาห์นี้แกว่งกรอบ 36.40-37.00 บาท/ดอลลาร์ หลังตลาดทบทวนแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 36.40-37.00 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 36.61 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 36.25-36.79 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเงินเยนแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 34 ปีครั้งใหม่ และเงินยูโรร่วงลงสู่จุดต่ำสุดรอบ 5 เดือน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ พุ่งขึ้นหลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐสูงเกินคาดเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

ค่าเงินบาทสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 6 เดือน ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักลงทุนคาดไว้เช่นกัน โดยในไตรมาส 1/67 ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 4.2% เร่งตัวขึ้นจาก 3.4% ในไตรมาส 4/66 ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) คงดอกเบี้ยที่ 4.00% แต่ส่งสัญญาณว่าอาจลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทย 7,918 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตรสุทธิ 16,566 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ หลังตัวเลขเงินเฟ้อและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสหรัฐแข็งแกร่งเกินคาด ส่งผลให้ตลาดทบทวนคาดการณ์จังหวะเวลาการลดดอกเบี้ยครั้งแรกของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จากเดือนมิถุนายนออกไปเป็นเดือนกันยายน ในภาวะเช่นนี้ คาดว่าดอลลาร์จะได้แรงหนุนต่อไปในระยะสั้น นอกจากนี้ ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์และความเสี่ยงที่ราคาพลังงานจะทะยานขึ้นและฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลก กระตุ้นความต้องการเงินดอลลาร์อีกทางหนึ่ง

ค่าเงินบาทสัปดาห์นี้

ขณะที่สถานการณ์ภายในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 67 มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า จากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว รวมทั้งแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่การส่งออกฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และ กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะกลับเข้ากรอบเป้าหมายปลายปีนี้ ขณะที่กรรมการ 2 รายเห็นว่าควรลดดอกเบี้ยเป็น 2.25% ให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลง และจะช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า นโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

ดังนั้น เรามองว่า ท่าทีล่าสุดของ กนง. ในภาพรวม ยังไม่ต้องการรีบลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้ หากแนวโน้มเศรษฐกิจเปลี่ยนไปจากที่ กนง.ประเมินไว้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK