Finance

7 เคล็ดลับ! ผ่อนบ้านอย่างไรให้หมดหนี้ไวขึ้นเป็น 10 ปี

ทำไมต้องผ่อนบ้านให้หมดไวขึ้น ส่อง 7 เคล็ดลับ! ผ่อนบ้านอย่างไรให้หมดหนี้ไวขึ้นเป็น 10 ปี

7 เคล็ดลับ ที่ช่วยให้คนที่กำลังเริ่มผ่อนบ้าน หรือผ่อนบ้านมาระยะหนึ่งแล้ว สามารถนำไปปรับใช้ เพื่อให้ผ่อนบ้านหมดได้ไวขึ้น การซื้อที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น บ้าน คอนโด ทาวน์โฮม หรือที่อยู่อาศัยอื่น ๆ หลายคนจะเลือกวิธีการขอสินเชื่อกับธนาคาร และใช้วิธีการผ่อนชำระคืนธนาคารตามกำหนดไปเรื่อย ๆ

ผ่อนบ้าน

แต่ระยะเวลาในการผ่อนชำระ ยิ่งนาน ยิ่งต้องเสียดอกเบี้ยเยอะ หลายคนจึงต้องหาวิธีในการผ่อนบ้านให้หมดไวขึ้น เพื่อให้ภาระค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนลดลง และสร้างอิสระทางการเงินให้กับตนเองได้เร็ว

มาดู 7 เคล็ดลับ ที่ช่วยให้คนที่กำลังเริ่มผ่อนบ้าน หรือผ่อนบ้านมาระยะหนึ่งแล้ว สามารถนำไปปรับใช้ เพื่อให้ผ่อนบ้านหมดได้ไวขึ้น และใช้เวลาในการผ่อนลดลงได้มากถึง 10 ปี

ทำไมต้องผ่อนบ้านให้หมดไวขึ้น

สำหรับมนุษย์เงินเดือนในยุคนี้ ถ้าหากมีการขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้าน ก็จะต้องหักค่าใช้จ่าย 30% ของเงินเดือน หรือมากกว่านั้น เพื่อการผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน ซึ่งนอกจากจะต้องใช้เวลานานหลายปีแล้ว ก็ทำให้อิสรภาพที่จะใช้เงินไปกับสิ่งอื่น ๆ ลดลงไปด้วย จึงทำให้คนส่วนใหญ่ที่กำลังผ่อนบ้านอยู่ มองหาวิธีในการผ่อนบ้านให้หมดไวขึ้น เพื่อให้ระยะเวลาของสินเชื่อลดลง หมดภาระผ่อนจ่ายได้เร็วขึ้น และได้นำเงินส่วนนั้นไปกับสร้างความสุขให้กับชีวิตในรูปแบบอื่นๆ ด้วย

ผ่อนบ้าน

7 เคล็ดลับ ช่วยให้ผ่อนบ้านหมดไวขึ้นเป็น 10 ปี

อยากผ่อนบ้านให้หมดไวขึ้นเป็น 10 ปี มาดูกันเลย ว่ามีเคล็ดลับไหนบ้าง ที่คุณสามารถนำไปทำได้เลยในการผ่อนจ่ายค่าบ้านงวดต่อไป

1. เร่งโปะในช่วงอัตราดอกเบี้ยต่ำ

ในการขอสินเชื่อบ้านกับธนาคารนั้น จะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เข้าไปด้วย ทำให้ในแต่ละเดือนที่มีการผ่อนชำระคืน เงินที่จ่ายไปจะถูกแบ่งออกไป 2 ส่วน โดยส่วนแรกจะเป็นดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนด และส่วนที่เหลือจะนำไปหักเงินต้นให้ลดลง เช่น ขอสินเชื่อซื้อบ้านจำนวน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ระยะเวลาในการผ่อน 30 ปี โดยแต่ละเดือนกำหนดให้ชำระ 10,000 บาท ซึ่งเมื่อชำระไปแล้วเงินจะถูกหักดอกเบี้ยไปจำนวน 5,095.89 บาท และที่เหลือจะไปหักในส่วนเงินต้น 4,904.11 บาท ทำให้ในงวดถัดไป เงินต้นจะเหลืออยู่ 2,000,000 – 4,904.11 = 1,995,095.89 บาท (จำนวนต่างๆ ในการคำนวณเป็นตัวอย่างที่กำหนดขึ้น เพื่อความเข้าใจในการผ่อนชำระสินเชื่อบ้านเท่านั้น)

แต่สำหรับการขอสินเชื่อบ้านในช่วง 3 ปีแรก ธนาคารมักจะมีโปรโมชันดอกเบี้ยต่ำ ทำให้จำนวนดอกเบี้ยที่ถูกหักไปจากยอดชำระแต่ละงวดลดลง และเงินถูกนำไปลดในส่วนของเงินต้นเยอะขึ้น ในช่วงนี้จึงเหมาะกับการ ผ่อนแต่ละงวดให้เยอะ หรือชำระค่าผ่อนสินเชื่อในแต่ละเดือน ให้จำนวนมากกว่าอัตราเรียกเก็บ เพื่อให้เงินส่วนเกินถูกนำไปหักในส่วนของเงินต้นเยอะขึ้น โดยอาศัยจังหวะช่วงอัตราดอกเบี้ยต่ำ

2. ผ่อนให้เยอะกว่าค่างวดทุกเดือน (รูปแบบที่ 1)

จากตัวอย่างในเคล็ดลับที่ 1 เราได้เห็นกันไปแล้วว่า ในแต่ละงวดที่ทำการผ่อนค่าบ้านนั้น เงินส่วนหนึ่งจะถูกหักไปเป็นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เงินต้นที่ถูกหักในแต่ละงวดนั้นมีจำนวนน้อยลง ถ้าอยากให้เงินต้นถูกหักลดลง คุณสามารถใช้วิธีการผ่อนให้เยอะกว่าค่างวดที่ต้องผ่อนชำระทุกเดือน โดยเพิ่มจากจำนวนที่ต้องผ่อนในแต่ละงวดไปอีก ตั้งแต่ 10%-50% ของจำนวนเงิน เช่น เพิ่มจำนวนเงินผ่อน 20% ของยอด 10,000 บาท จะได้ 12,000 บาท

หากขอสินเชื่อซื้อบ้าน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ระยะเวลาในการผ่อน 30 ปี (เทียบกับข้อ 1) และเพิ่มยอดผ่อนเป็น 12,000 บาท จะถูกหักดอกเบี้ยไปจำนวน 5,095.89 บาท และที่เหลือจะไปหักในส่วนเงินต้น 6,904.11

จะได้ 2,000,000 – 6,904.11 = 1,993,095.89 ซึ่งเมื่อเทียบกับแบบแรกที่ต้องจ่ายตามเรียกกำหนด จะเห็นว่าเงินต้นจะถูกหักลบไปเยอะกว่า ถึง 2,000 บาท

3. ผ่อนให้เยอะกว่าค่างวดทุกเดือน (รูปแบบที่ 2)

เคล็ดลับถัดไป เป็นการขยายทางเลือกสำหรับคนที่อยากผ่อนให้เยอะกว่าค่างวดในแต่ละเดือน และอยากให้ตัดเงินต้นได้เยอะ ๆ สามารถทำได้โดย ชำระตามจำนวนที่ธนาคารเรียกเก็บไปก่อน 1 รอบ และส่วนต่างที่ต้องการชำระเพิ่มให้ชำระต่ออีกครั้ง ภายในวันเดียวกัน เช่น ยอดผ่อนที่ต้องชำระในแต่ละเดือนอยู่ที่ 10,000 บาท ให้ชำระเต็มจำนวนไปก่อน

หากต้องการชำระเพิ่มอีก 2,000 บาท หรือมากกว่า ก็ให้ชำระอีกครั้ง ในวันเดียวกัน

โดยเคล็ดลับนี้ ธนาคารจะเลือกคิดดอกเบี้ยเฉพาะรอบ 10,000 บาท ที่ชำระรอบแรก ส่วนรอบต่อไปที่ชำระ 2,000 บาทในวันเดียวกัน ธนาคารจะหักไปในส่วนเงินต้นโดยตรง ทำให้ยอดเงินต้นลดลงได้เร็วยิ่งขึ้น

ผ่อนบ้าน

4. หางวดโปะเงินก้อนใหญ่ปีละครั้ง หรือเมื่อมีโอกาส

สำหรับมนุษย์เงินเดือน ในทุกกลางปีหรือสิ้นปี อาจได้รับโบนัสเป็นเงินก้อนมา ซึ่งเงินก้อนนี้อาจแบ่งมาจำนวนหนึ่ง เพื่อโปะเข้าไปในงวดผ่อนชำระ จะช่วยให้เงินต้นลดลงได้เร็วขึ้นอีก เช่น จากที่ปกติ เดือน 1-12 ผ่อนชำระงวดละ 12,000 บาท และอาจเพิ่มเงินก้อนเข้าไป 50,000 บาท ในงวดที่ 12 อีกรอบหนึ่ง ก็จะทำให้เงินต้นลดลงได้เยอะ ระยะเวลาในการผ่อนชำระก็จะหมดได้เร็วขึ้นด้วย

5. เลือกรีไฟแนนซ์ หรือรีเทนชั่น ทุก 3 ปี

เมื่อผ่อนสินเชื่อไปจนสิ้นสุดช่วงปีที่ 3 แล้ว อัตราดอกเบี้ยส่วนใหญ่จะสูงขึ้น ทำให้ยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน ถูกหักออกไปกับดอกเบี้ยเยอะขึ้น และส่วนของเงินต้นก็ถูกหักไปน้อยลง หากต้องการให้อัตราดอกเบี้ยกลับมาลดลงอีกครั้ง คุณสามารถเลือกทำได้ 2 วิธี คือ

  • รีไฟแนนซ์ (Refinance) เป็นการยื่นขอสินเชื่อบ้านกับธนาคารแห่งใหม่ ซึ่งจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง และยอดผ่อนลดลงด้วย
  • รีเทนชั่น (Retention) เป็นการขอลดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารเดิมที่ขอสินเชื่ออยู่แล้ว ซึ่งถ้าหากเครดิตทางการเงินดี มีวินัยในการผ่อนชำระสม่ำเสมอ ก็จะมีโอกาสได้รับการลดดอกเบี้ยตามอัตราที่ธนาคารกำหนด ข้อดีคือไม่ต้องเสียเวลาดำเนินการขอสินเชื่อใหม่ทั้งหมด ที่ต้องใช้ทั้งเวลา และเสียค่าดำเนินการต่างๆ

สำหรับทั้ง 2 วิธีนี้ คุณสามารถขอได้ทุกๆ 3 ปี เมื่ออัตราดอกเบี้ยกลับมาสูงขึ้นอีก ช่วยให้การผ่อนชำระค่าบ้านหมดได้เร็วขึ้น เนื่องจากได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำอยู่เสมอ

6. ผ่อนชำระให้ตรงเวลา

การผิดนัดผ่อนชำระค่าบ้าน หรือผ่อนชำระไม่ตรงเวลา หากเกิดขึ้นบ่อยๆ นอกจากจะทำให้ต้องชำระค่าผ่อนบ้านสูงขึ้นแล้ว ระยะเวลาในการผ่อนบ้านก็จะยืดออกไปอีก ทำให้แผนที่วางไว้ว่าจะรีบผ่อนบ้านให้หมดสำเร็จได้ช้าลง

นอกจากนี้แล้ว การผิดนัดผ่อนชำระค่าบ้านยังทำให้เครดิตทางการเงินเสียไปด้วย หากในอนาคตมีการขอสินเชื่อเพิ่มเติม ขอรีไฟแนซ์ หรือขอรีเทนชั่น โอกาสที่จะได้รับการอนุมัติก็จะน้อยลงไปด้วย

7. มุ่งหน้าผ่อนบ้านให้เร็ว หยุดเพิ่มภาระหนี้

จากหลาย ๆ เคล็ดลับที่ผ่านมา เราได้เห็นกันแล้วว่า หากต้องการให้การผ่อนชำระบ้านหมดไวขึ้น จำเป็นต้องเพิ่มยอดผ่อนชำระเข้าไป ดังนั้น หากต้องการให้มีเงินก้อนเพื่อโปะในการผ่อนบ้านให้มากที่สุด ก็จำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ลดการหาภาระหนี้เพิ่ม หรือหารายได้เสริมนอกจากงานประจำ

เพื่อให้สามารถรวบรวมเงินก้อนใหญ่ สำหรับผ่อนชำระค่าบ้านในแต่ละเดือนหรือบ่อยเท่าที่ไหว ก็จะช่วยให้ระยะเวลาในการผ่อนบ้านสั้นลงได้มากถึง 10 ปีเลยทีเดียว

ที่มา : ธนาคารอาคารสงเคราะห์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK