Finance

หนี้ท่วม จ่ายหนี้ไม่ไหว เจ้าหนี้อายัดทรัพย์สินอะไรได้บ้าง?

เป็นหนี้ท่วม จ่ายหนี้ไม่ไหว ระวัง!! ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์ อ่านที่นี่ เจ้าหนี้อายัดทรัพย์สินอะไรได้บ้าง?

ปัจจุบันปัญหาหนี้สำหรับคนไทยเป็นปัญหาใหญ่ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะมีเงิน ก็ต้องเอาไปใช้หนี้ และเป็นบ่อเกิดของปัญหาทางการเงินในอนาคตอีกด้วย

เป็นหนี้

จากข้อมูลสินเชื่อในระบบจากเครดิตบูโร คนไทย 25 ล้านคน (1 ใน 3 ของประชากรไทย) มีหนี้ในระบบ โดยมีมูลค่าหนี้เฉลี่ยต่อคนมากถึง 527,000 บาท และ 1 ใน 5 กำลังมีหนี้เสีย (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2565) และที่น่ากังวลก็คือ

1. 60% ของบัญชีหนี้ครัวเรือนทั้งหมดเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2565)

ซึ่งเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ใช้แล้วหมดไป ไม่ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และดอกเบี้ยสูง ทำให้มีภาระผ่อนต่อเดือนที่สูง ต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งถึงแม้จะมีสัดส่วนยอดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูงใกล้เคียงกับไทย แต่ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่สามารถสร้างรายได้หรือความมั่นคงได้

2. หนี้ส่วนใหญ่อยู่กับกลุ่มผู้กู้ที่มีปัญหาด้านความสามารถในการชำระหนี้

โดยกลุ่มวัยเริ่มทำงานมีสัดส่วนการใช้สินเชื่อที่อาจไม่สร้างรายได้สูงที่สุดและมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงที่สุดด้วยถึง 1 ใน 4 ส่วนเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยเป็นสองกลุ่มผู้กู้ที่มีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) สูงที่สุด สุ่มเสี่ยงที่จะชำระหนี้ไม่ได้ หรือชำระได้เพียงดอกเบี้ยหรือบางส่วน ส่งผลให้ปัจจุบันคนไทยกว่า 8 ล้านคนกำลังมีหนี้เสีย (ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของคนไทยที่เป็นหนี้) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2565)

เป็นหนี้

เมื่อชำระหนี้ไม่ได้ ก็อาจถูกยึดหรืออายัดทรัพย์

คำว่า “ยึด” มีความหมายกว้าง ๆ ว่าการกระทำการใด ๆ ต่อทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกยึดเพื่อให้ทรัพย์สินนั้นได้เข้ามาอยู่ในความควบคุม ดูแล หรือครอบครองของผู้ดำเนินการยึดทรัพย์สินนั้น ส่วนคำว่า “อายัด” มีความหมายกว้าง ๆ ว่า การสั่งให้บุคคลที่ถูกอายัดทรัพย์สิน หรือบุคคลภายนอกมิให้จำหน่าย จ่าย โอน หรือกระทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่ได้สั่งอายัดไว้

การอายัดเงิน ตามกฎหมายใหม่ (พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉบับที่ 30 พ.ศ.2560)

เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดี หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน เจ้าหนี้มีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ได้ โดยตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อออกหมายอายัดต่อไป

การอายัดเงินเดือน โบนัส ค่าตอบแทนต่างๆ หากเจ้าหนี้รายแรกขออายัดเงินเดือนแล้ว เจ้าหนี้รายอื่นจะทำเรื่องขออายัดซ้ำไม่ได้ ต้องรอคิวให้รายแรกอายัดครบก่อน หรืออาจจะขอหารส่วนแบ่งเงินที่ถูกอายัดจากเจ้าหนี้รายแรกก็ได้ ถ้ารอก็จะรอได้ไม่เกิน 10 ปี หากเกิน 10 ปีก็จะหมดอายุความ

เป็นหนี้

หลักเกณฑ์การอายัดเงินเดือน

  • หากลูกหนี้เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง หรือเป็นพนักงานบริษัททั่วไป จะถูกอายัดเงินเดือนค่าจ้าง เบี้ยขยัน ค่าล่วงเวลา ก่อนหักภาษีและประกันสังคม ดังนี้
    – เงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท อายัดไม่ได้
    – เงินเดือนเกิน 20,000 บาท เจ้าหนี้สามารถร้องขออายัดส่วนที่เกิน 20,000 บาทได้ แต่จะต้องเหลือไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท
  • ค่าล่วงเวลา (โอที) เงินเบี้ยขยัน ค่าคอมมิชชั่น ถูกอายัดได้ไม่เกิน 30%
  • เงินโบนัส ถูกอายัดได้ไม่เกิน 50%
  • เงินตอบแทนกรณีออกจากงาน ถูกอายัดได้ 100%
  • เงินค่าคอมมิชชั่น ถูกอายัดได้ 30%
  • เงินค่าตอบแทนต่าง ๆ / ค่าสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าตำแหน่ง ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าทรัพย์สิน เป็นต้น ถูกอายัดได้ 100%
  • บัญชีเงินฝากธนาคาร ถูกอายัดได้ทั้งหมด
  • เงินสหกรณ์ (เงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน เงินค่าหุ้นสหกรณ์) ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือพนักงานบริษัท ถูกอายัดได้ทั้งหมด
  • ร่วมทุนกับผู้อื่นเปิดบริษัท หากผู้ร่วมลงทุนมีปัญหาถูกอายัดทรัพย์ ถูกอายัดได้เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์สินของผู้ถูกอายัดเท่านั้น
  • หุ้น ถูกอายัดได้ทั้งหมด

เป็นหนี้

สิทธิเรียกร้องที่อายัดไม่ได้

  • เงินเดือนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างในหน่วยงานราชการ
  • เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
  • เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ทำกับบริษัท (พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ)
  • เงินค่าวิทยฐานะ (ค่าตำแหน่งทางวิชาการ) ถ้าเป็นข้าราชการจะไม่ถูกอายัด แต่ถ้าเป็นสังกัดเอกชนจะถูกอายัด เพราะถือว่าเป็นเงินเดือน
  • เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของข้าราชการ หรือลูกจ้างของรัฐบาล เว้นแต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ
  • เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง คนงานที่นายจ้างจ่ายให้รวมกัน ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท หรือตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร
  • บำเหน็จ ค่าชดเชยหรือรายได้ของลูกหนี้ ที่ไม่ใช่บุคลากรในหน่วยงานราชการ ไม่เกิน 300,000 บาท
  • เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ลูกหนี้ได้รับอันเนื่องมาจากความตายของบุคคลอื่น
  • เบี้ยคนพิการ เบี้ยคนชรา

หากลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่น ๆ ในครอบครัว เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา หรือค่ารักษาพยาบาลโรคประจำตัว สามารถนำหลักฐานไปขอลดหย่อนที่สำนักบังคับคดี เพื่อให้ลดเปอร์เซ็นต์การอายัดเงินเดือนได้ โดยการยื่นเป็นคำร้องขอลดอายัด เจ้าพนักงานพิจารณาลดอายัดเงินได้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง เช่น เงินเดือน 30,000 บาท ถูกอายัด 10,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถลดให้ได้ 5,000 บาท หากต้องการให้ลดยอดอายัดมากกว่านี้ ก็จะต้องใช้สิทธิทางศาล โดยการยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง

ขอบคุณที่มา : สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK