Startup

วิถี‘ฟรีแลนซ์’เทรนด์จ้างงานยุคใหม่ ‘ลดต้นทุน-หารายได้เสริม’

เรียกว่าเป็นอีก “อาชีพ” ยอดนิยมของคนทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความอิสระ อีกทั้งมีความต้องการจากแหล่งงานจำนวนมาก  ต้องยกให้ “อาชีพอิสระ” หรือ “ฟรีแลนซ์”  ทั้งที่มาจากคนทำงานประจำ ที่ต้องการหารายได้เสริม รวมทั้งกลุ่มที่ต้องการทำอาชีพฟรีแลนซ์ “เต็มตัว” ด้วยเป็นเทรนด์แรงที่เกิดขึ้นมาทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย

สถิติของผู้มีอาชีพฟรีแลนซ์ในไทยปัจจุบันอยู่ที่  2 ล้านคน แนวโน้มเพิ่มขึ้น 3-6 แสนคนต่อปี ถือเป็นเทรนด์ตลาดแรงงานอนาคต เกิดขึ้นจากตามพฤติกรรมคนรุ่นใหม่และผู้ประกอบการ ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ และธุรกิจเอสเอ็มอี ที่นิยมจ้างงาน Outsource ที่สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 60%  เมื่อเทียบกับการจ้างงานประจำ

จากเทรนด์ดังกล่าว “ฟาสต์เวิร์ค” (Fastwork)  เว็บและแอพพลิเคชั่น ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้บริการจัดหางานออนไลน์ สำหรับฟรีแลนซ์และมืออาชีพด้านต่างๆ ที่เป็นพนักงานประจำ หลังเปิดตัวมา 3 ปี  เรียกได้ว่าเป็น “สตาร์ทอัพ” ที่เติบโต 1-3 เท่ามาได้ทุกปี

1548145122293

ตลาดฟรีแลนซ์ไทย-อินโดฯ 1.2 แสนล้าน

วสะ สุภาโชค เอี่ยมสุรีย์  หนึ่งในผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัทฟาสต์เวิร์ค เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่าปัจจุบันฟาสต์เวิร์ค ให้บริการในไทย 3 ปี มีฟรีแลนซ์ 3 หมื่นคน สัดส่วนคนทำงานประจำ 50%  และฟรีแลนซ์เต็มตัว 50% จาก 70 หมวดหมู่งานที่เปิดให้บริการ ในฝั่ง “ผู้จ้าง” มีจำนวนกว่า 3 แสนรายในปีที่ผ่านมา เป็นกลุ่มธุรกิจ 75%  และบุคคลทั่วไป 25%

ปีที่ผ่านมาได้เข้าไปตั้งสำนักงานเพื่อเปิดให้บริการ ฟาสต์เวิร์ค ในอินโดนีเซีย ปัจจุบันเปิดให้บริการ 7-8 เดือน มี 55 หมวดหมู่งาน มีฟรีแลนซ์กว่า 9,000 คน

จากการสำรวจมูลค่าการจ้างงานในตลาดฟรีแลนซ์ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์  ในประเทศไทยและอินโดนีเซีย มีมูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท บริการผ่านออนไลน์มีสัดส่วนเพียง 10%  หรือราว 1.2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น นั่นหมายถึงโอกาสที่สามารถเติบโตได้อีกมาก

ในประเทศไทยแม้มีประชากรน้อยกว่าอินโดนีเซีย แต่มีสัดส่วนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 82% ดังนั้นการใช้บริการฟรีแลนซ์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์จึงมีโอกาสเติบโตตามไปด้วย  โดยมูลค่าการจ้างงานฟรีแลนซ์ในไทยอยู่ที่ราว 3.6 หมื่นล้านบาท โดยมีจำนวนฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้น 15-30% ทุกปี

“ที่ผ่านมาฟาสต์เวิร์คเป็นสตาร์ทอัพ ที่สามารถระดมเงินลงทุนได้แล้วกว่า 180 ล้านบาท เรามีเป้าหมายจะขยายบริการในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศอื่นๆเพิ่มเติมหลังจากนี้ เพราะทั้งภูมิภาคนี้มีฟรีแลนซ์กว่า 10 ล้านคน”

thumbnail IMG 20190122 141052 resized 20190122 051614058

เพิ่มบริการหมวดไลฟ์สไตล์

ปัจจุบันฟาสต์เวิร์คมีหมวดหมู่งานฟรีแลนซ์ 70 งาน  หมวดที่ได้รับความนิยม 5 อันดับแรก คือ 1.กราฟฟิคและดีไซน์ 35%  2.การตลาดและโฆษณา 20% 3.งานภาพและเสียงอื่นๆ 20% 4.เว็บและโปรแกรมมิ่ง 15% และ 5.เขียนและแปลภาษา 10%

งานที่ได้รับความนิยมในอันดับต้นๆ ส่วนใหญ่เป็นงานด้านการตลาดและออนไลน์ ที่สามารถช่วยเพิ่มยอดขายให้กับผู้ว่างจ้าง  โดยปีนี้ฟาสต์เวิร์คได้เพิ่มหมวดงานฟรีแลนซ์ “ไลฟ์สไตล์” เข้ามาให้บริการเพิ่มเติม  เช่น หมอดูดวง  การดูฮวงจุ้ย  ช่างแต่งหน้า นักดนตรี  เป็นต้น   การเพิ่มหมวดหมู่งานไลฟ์สไตล์ดังกล่าวทำการวิจัยมาจากการค้นหาผ่านเสิร์ซ เอ็นจิ้น ต่างๆ ที่พบว่ามีความต้องการใช้บริการฟรีแลนซ์ดังกล่าว

ที่ผ่านมาปัญหาของฟรีแลนซ์ทั่วไป คือ การต้องเสียเวลาติดต่อลูกค้าเอง ประเมินว่าใช้เวลาถึง 50% หรือ 4 ชั่วโมงต่อวัน  ฟาสต์เวิร์คจึงเข้ามาเป็นแพลตฟอร์ม “ตัวกลาง”  ที่ให้ฟรีแลนซ์เข้ามาลงทะเบียน ฝากประวัติ  โปรไฟล์งาน ระบุตัวตนและงานที่ต้องการ  ทำให้ฟรีแลนซ์สามารถใช้เวลาทั้งหมดไปทำงานตามการว่าจ้าง ฝั่งผู้ว่าจ้างเองสามารถเลือกจ้างงานจากฟรีแลนซ์ ที่แสดงผลงานและคะแนนรีวิวในแพลตฟอร์ม โดยตกลงราคากันเอง  แต่จ่ายเงินผ่านฟาสต์เวิร์ค ซึ่งฟรีแลนซ์จะได้รับเงินต่อเมื่อส่งงานให้ผู้ว่าจ้างเรียบร้อยแล้ว

thumbnail IMG 20190122 135817 resized 20190122 051614767

จัดโปรแกรม “จ่ายโบนัสฟรีแลนซ์

นอกจากนี้ยังเห็น pain point  ของฟรีแลนซ์ ที่ไม่มีสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ เหมือนพนักงานประจำทั่วไป  เช่น ความก้าวหน้าในตำแหน่งงานและโบนัส  ดังนั้นฟาสต์เวิร์ค จึงพัฒนาโปรแกรม ฟาสต์เวิร์ค สกอร์ ที่จะให้คะแนนการทำงานของฟรีแลนซ์ จากการทำงานและส่งงานได้ตามโจทย์และระยะเวลาที่กำหนด และคะแนนจากการรีวิวของผู้ว่าจ้าง

โดยฟรีแลนซ์ที่ได้คะแนนสูงจะอยู่ในกลุ่ม Pro ที่จะแสดงผลให้หน้าแรกๆ ของการค้นหา ซึ่งมีโอกาสจะได้รับการว่าจ้างงานสูง อีกทั้งฟาสต์เวิร์ค จะให้ “โบนัส” การทำงานเป็นรายสัปดาห์, รายเดือน และรายปีอีกด้วย ที่ผ่านมากลุ่มที่ได้รับโบนัสอยู่ที่อัตรา 7,000- 1 แสนบาทต่อเดือน

รูปแบบการหารายได้ของฟาสต์เวิร์คที่ผ่านมาเป็นการเก็บค่าคอมมิชชั่นอัตรา 10% จากฟรีแลนซ์  โดยช่วยต้นปีนี้ได้ยกเลิกระบบคอมมิชชั่น เพื่อดึงฟรีแลนซ์เข้าสู่แพลตฟอร์มมากขึ้น  โดยปรับรูปแบบการหารายได้เป็นบริการออกแบบงานให้กับองค์กรต่างๆ หรือ เอ็นเตอร์ไพรส์ โปรเจค  ที่จะมีรายได้จากการจ้างงานการทำงานรายโปรเจค โดยใช้ฟรีแลนซ์ของฟาสต์เวิร์ค

“เราเป็นสตาร์ทอัพที่กำลังพัฒนา บิซิเนส โมเดล การหารายได้รูปแบบใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับตลาด เพื่อโอกาสการสร้างแหล่งรายได้จากหลายช่องทาง เชื่อว่าปีนี้จะมีมูลค่าการจ้างงานฟรีแลนซ์ 500 ล้านบาท เป้าหมายเติบโต 1-3 เท่าจากปีก่อน”

Avatar photo