Royal News

13 ตุลาคม 2565 น้อมรำลึก ‘ในหลวง รัชกาลที่ 9’ พระผู้ทรงงาน เพื่อประโยชน์สุขแห่งปวงพสกนิกร

13 ตุลาคม 2565 เป็นวันที่คนไทยทั่วทั้งแผ่นดิน ต่างพากันระลึกถึง “ในหลวง รัชกาลที่ 9” พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี ที่ทรงครองสิริราชสมบัติ พระองค์ได้ทรงงาน และบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขแห่งปวงพสกนิกร

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน  2489 ด้วยพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จนสวรรคต เป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

13 ตุลาคม 2565

พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2470 ที่โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นพระราชนัดดาใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พระองค์ทรงก่อตั้งโครงการในพระราชดำริน้อยใหญ่ ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างอเนกอนันต์แก่ประเทศชาติ ทั้งยังได้พระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแนวทางให้อาณาประชาราษฎร์ ได้ดำเนินชีวิตโดยใช้ความรู้ และสติปัญญาเป็นภูมิคุ้มกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

พระองค์ทรงเป็นที่สรรเสริญเกี่ยวกับพระราชดำริในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดย โคฟี แอนนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์แด่พระองค์

พระองค์ยังทรงอุทิศพระราชทรัพย์ในโครงการพัฒนาประเทศไทยหลายโครงการ โดยเฉพาะในทางเกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การส่งเสริมอาชีพ ทรัพยากรน้ำ สวัสดิการทางคมนาคม และสวัสดิการสาธารณะ

13 ตุลาคม 2565

13 ตุลาคม 2565 รำลึกพระราชกรณียกิจในหลวง รัชกาลที่ 9

  • ด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดี

ในปี 2503 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาใหม่ หลังจากที่ได้เลิกร้างไปตั้งแต่ปี 2479  และประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ก็ได้รับการฟื้นฟูเป็นครั้งแรกเพื่อถวายผ้าพระกฐิน

ทรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยแขนงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ประวัติศาสตร์ไทย สถาปัตยกรรม จิตรกรรม นาฏศิลป์ การดนตรีและศิลปะอื่น ๆ เช่น โปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรจัดทำโน้ตเพลงไทยตามระบบสากล และจัดพิมพ์ขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์และนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยหาระดับเฉลี่ยมาตรฐานของเครื่องดนตรีไทย ทรงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย

13 ตุลาคม 2565

  • ด้านวรรณศิลป์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชนิพนธ์บทความ แปลหนังสือ เช่น นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระมหาชนก และพระมหาชนก ฉบับการ์ตูน เรื่อง ทองแดง เป็นพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง

  • ด้านการพัฒนาชนบท

ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ตลอดรัชสมัยไปกับการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ ทุกภูมิภาคของประเทศ นับตั้งแต่ปี  2497  โดยเฉพาะในแทบที่ชนบททุรกันดาร เพื่อทรงเยี่ยมเยียน ซักถามเรื่องความเป็นอยู่ และสารทุกข์สุกดิบของประชาชน

นอกจากนี้ พระองค์จะทรงศึกษาค้นคว้าข้อมูลต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง ด้วยแผนที่หรือเอกสารต่าง ๆ ทำให้ทรงรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน หลังจากนั้นพระองค์ก็จะทรงคิดค้นแนวทางพระราชดำริ เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆในแต่ละพื้นที่

พระองค์จะทรงพัฒนาชนบทในรูปโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีจุดประสงค์ คือ การพัฒนาชนบทเพื่อให้ราษฎรในชนบท ได้มีความเป็นอยู่ตลอดจนสามารถประกอบอาชีพ เลี้ยงครอบครัวให้ดีขึ้น

แนวพระราชดำริที่สำคัญในเรื่องการพัฒนาชนบท คือมีพระราชประสงค์ช่วยให้ชาวชนบท สามารถช่วยเหลือพึ่งตนเองได้ โดยการสร้างพื้นฐานหลักที่จำเป็นต่อการผลิตให้แก่ราษฎรเหล่านั้น ทรงส่งเสริมให้ชาวชนบทมีความรู้ในการประกอบอาชีพตามแต่ละท้องถิ่น ทั้งยังทรงหาทางนำวิทยาการสมัยใหม่มาประยุกต์เข้ากับภูมิปัญญาชาวบ้าน

13 ตุลาคม 2565

  • ด้านการเกษตรและชลประทาน

พระองค์ทรงให้ความสำคัญในด้านชลประทานเป็นอย่างมาก โดยทรงคิดค้นโครงการตามพระราชดำริของพระองค์ มีทั้งการแก้ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาอุทกภัย รวมไปถึงการบำบัดน้ำเสีย เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

ทรงวิจัยและริเริ่มโครงการฝนหลวง เพื่อช่วยบรรเทาภัยแล้งสำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน เมื่อคราวเขตกรุงเทพและปริมณฑลที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในปี 2538  ทรงมีพระราชดำริเรื่องแก้มลิง ควบคุมการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน ลำคลองต่าง ๆ ลงสู่อ่าวไทย

พระองค์ทรงประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศ กังหันชัยพัฒนา ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยการเพิ่มออกซิเจน เป็นสิ่งประดิษฐ์หนึ่งของพระองค์ที่ได้รับสิทธิบัตรจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

13 ตุลาคม 2565

ในด้านการเกษตร จะทรงเน้นการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ ๆ ตลอดจนการศึกษาแมลงศัตรูพืช และพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งแต่ละโครงการ จะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

นอกจากนี้ ยังทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรยึดติดกับพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่เกษตรกรควรมีรายได้จากกิจกรรมอื่นด้วย เพื่อจะได้พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง

พระองค์ยังทรงคิดค้นการแก้ปัญหาทรัพยากรทางการเกษตรหลายอย่างที่สำคัญ เช่น การแกล้งดิน เพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวหรือดินเป็นกรด จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้ การปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ

พระองค์ทรงส่งเสริมการเลี้ยงปลานิล  ทรงจัดตั้งโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อวิจัยพันธุ์ข้าว พันธุ์พืชและปศุสัตว์ รวมถึงการการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การผลิตเอทานอล แก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล

13 ตุลาคม 2565

  • ด้านการแพทย์

โครงการของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในระยะแรก ล้วนแต่เป็นโครงการด้านสาธารณสุข ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฏรตามท้องที่ต่าง ๆ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ และล้วนเป็นอาสาสมัคร โดยเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยเวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์พร้อมให้การรักษาพยาบาลราษฎรผู้ป่วยไข้

นอกจากนั้น ยังมีโครงการทันตกรรมพระราชทาน ซึ่งเป็นพระราชดำริให้ทันตแพทย์อาสาสมัคร เดินทางออกไปช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟันโดยไม่คิดมูลค่า

หน่วยแพทย์หลวงยังจัดเจ้าหน้าที่ออกเดินทางไปรักษาราษฎรผู้ป่วยเจ็บ ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปอีกด้วย

13 ตุลาคม 2565

  • ด้านการศึกษา

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดลขึ้น เมื่อปี 2502 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพระราชทานทุน แก่นิสิตนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่นในด้านต่าง ๆ ให้ได้มีโอกาสไปศึกษาหาความรู้วิชาการชั้นสูงในต่างประเทศ และนำความรู้นั้นกลับมาใช้พัฒนาบ้านเมือง

ส่วนในประเทศ พระองค์ทรงให้การอุปถัมภ์ในด้านต่าง ๆ เช่น ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนและพระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อสนับสนุน และเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียนของโรงเรียน

13 ตุลาคม 2565

โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์มีทั้งโรงเรียนรัฐบาล และโรงเรียนเอกชน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการจัดการบริหารทางการศึกษา แบบให้เปล่าตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในลักษณะทั้งอยู่ประจำ และไปกลับ แบ่งเป็น โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 26 โรงเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ จำนวน 14 โรงเรียน

พระองค์ยังได้จัดสร้างโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนเพื่อเป็นหนังสือที่ให้ความรู้ในวิชาการทุกสาขา ได้จัดทำหนังสือสารานุกรมไทยที่บรรจุความรู้ใน 7 สาขาวิชา โดยแต่ละเล่มได้จัดแบ่งเนื้อหาของแต่ละเรื่องออกเป็นสามระดับ เพื่อที่จะให้เยาวชนสามารถศึกษาค้นคว้าหาความรู้ได้ตามพื้นฐานของตัวเอง

นอกจากนี้ ตลอดรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เพื่อพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่เหล่านิสิตผู้สำเร็จการศึกษา

13 ตุลาคม 2565

  • ด้านการต่างประเทศ

ระหว่างปี 2502-2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ รวม 27 ประเทศ เพื่อเป็นการเจริญพระราชไมตรี กับบรรดามิตรประเทศเหล่านั้น ให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเพื่อนำความปรารถนาดีของประชาชนชาวไทยไปมอบให้กับประชาชนในประเทศต่าง ๆ

ทรงเสด็จเยือนประเทศเวียดนามใต้ อย่างเป็นทางการเป็นประเทศแรก อีกหนึ่งประเทศสำคัญที่พระองค์ได้เสด็จเยือนในช่วงเวลาดังกล่าว คือ สหรัฐอเมริกา โดยในการเสด็จประเทศสหรัฐอเมริกาครั้งนั้น ทรงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ขบวนพาเหรดของพระองค์ในนิวยอร์กมีผู้เฝ้าชมพระบารมีกว่า 750,000 คน

13 ตุลาคม 2565

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้มีพระราชดำรัสต่อสภาคองเกรส แสดงจุดยืนว่าอเมริกาเป็นมหามิตรของไทย ซึ่งหลังจากการเสด็จเยือนประเทศแคนาดา เมื่อปี 2510 พระองค์ก็มิได้ทรงเสด็จเยือนประเทศไหนอีกเลย กระทั่งเมื่อปี 2537 ทรงเสด็จเยือนประเทศลาว ซึ่งนับเป็นการเสด็จเยือนต่างประเทศเป็นครั้งสุดท้ายของพระองค์

ในภายหลังพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินออกให้การต้อนรับราชอาคันตุกะจากประเทศต่าง ๆ ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยหลายครั้ง ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้บรรดาทูตานุทูตเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสาส์นตราตั้ง ในการเข้ามารับตำแหน่งในประเทศไทย และถวายบังคมทูลลาเมื่อครบวาระ รวมทั้งพระองค์จะมีพระราชสานส์ถึงผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั้งการแสดงความยินดี และแสดงความเสียพระราชหฤทัย

ที่มา : วิกิพีเดีย 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo