Politics

‘ตรีนุช’ เผย ‘โรงเรียนน้ำท่วม’ 838 แห่ง นักเรียนเดือดร้อนกว่า 1 แสนคน ครูเกือบ 8 หมื่นคน

โรงเรียนน้ำท่วม 838 แห่ง นักเรียนเดือดร้อนกว่า 1 แสนคน ครูเกือบ 8 หมื่นคน สั่งตั้งวอร์รูม รายงานผลกระทบแบบเรียลไทม์

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าการช่วยเหลือเหตุน้ำท่วมว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ตั้งศูนย์รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในสถานศึกษา ศธ. เพื่อรวบรวมข้อมูลของสถานศึกษา นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในภาพรวมทั่วประเทศ

สามารถดูข้อมูล รายละเอียดตามพื้นที่จังหวัด อำเภอ ตำบล และโรงเรียน ได้แบบ Real Time ที่ลิงก์ https://bit.ly/ReportFLOOD_BITC เพื่อติดตามและให้ความช่วยเหลือ

โรงเรียนน้ำท่วม

5 อันดับ จังหวัดที่มีโรงเรียนได้รับผลกระทบมากที่สุด

ข้อมูลล่าสุด (4 ต.ค. 65 เวลา 16.45 น.) มีสถานศึกษารายงานเข้ามาแล้ว 5,360 แห่ง มีโรงเรียนน้ำท่วม 838 แห่ง หรือคิดเป็น 16% ของสถานศึกษาทั่วประเทศ นักเรียนได้รับผลกระทบ 104,018 คน ครูและบุคลากรได้รับผลกระทบ 7,961 คน

โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  • ศรีสะเกษ
  • นครสวรรค์
  • ชัยภูมิ
  • พระนครศรีอยุธยา
  • อุบลราชธานี

นอกจากนี้ จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงวันที่ 3-9 ตุลาคม 2565 ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่บางแห่ง บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในสถานศึกษาและพื้นที่ชุมชนโดยรอบ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้สั่งการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดชุดปฏิบัติการ “ศูนย์อาชีวะช่วยประชาชน” ให้บริการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว ทั้งในการช่วยขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง หรือเคลื่อนย้ายประชาชนจากพื้นที่น้ำท่วมสู่พื้นที่ปลอดภัย

โรงเรียนน้ำท่วม

ตั้งวอร์รูมข้อมูลน้ำท่วม พร้อมสำรวจความเสียหาย

ขณะเดียวกันได้สั่งการให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ จัดตั้งศูนย์ข้อมูลน้ำท่วมระดับจังหวัด พร้อมทั้งให้เร่งสำรวจความเสียหายของอาคาร สถานที่ ครุภัณฑ์ สื่อการเรียนการสอน ของหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัด ศธ. ทุกสังกัด ทั้งในส่วนของ สพฐ. สอศ. กศน. สช. และให้สถานศึกษารายงานข้อมูลมาที่ศูนย์รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในสถานศึกษา สป. เพื่อจะได้ประมาณการในการเสนอของบฯ กลางซ่อมแซม และให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ต่อไปอย่างเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล

โรงเรียนน้ำท่วม

สิ่งที่เป็นห่วงในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมคือ เรื่องของโรคที่มากับน้ำ อุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะ อุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด สัตว์มีพิษที่มากับน้ำ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง จึงต้องเน้นย้ำให้ครู นักเรียน และผู้ปกครองระมัดระวังกรณีดังกล่าวอีกทางหนึ่งด้วย

โดยเฉพาะในสัปดาห์หน้าจะเป็นช่วงปิดภาคเรียน เด็ก ๆ อาจมีกิจกรรมนอกสถานศึกษา หรือเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ก็ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกวดขันเรื่องการเฝ้าระวังความปลอดภัยนอกสถานศึกษาเพิ่มเติมด้วย

ทั้งนี้ ประชาชนทุกคนสามารถรายงานเหตุความไม่ปลอดภัยผ่านระบบศูนย์ความปลอดภัยกระทรวงศึกษาธิการMOE Safety Center” ผ่าน 4 ช่องทาง คือ แอปพลิเคชัน MOE Safety Center, http://www.MOESafetyCenter.com , LINE @MOESafetyCenter หรือโทร 0-2126-6565 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo