Politics

‘ติดกัญชา’ หรือไม่? ประเมินได้ด้วยตัวเอง ผ่าน Line ‘ห่วงใย’

‘ติดกัญชา’ หรือไม่? ประเมินได้ด้วยตัวเอง ผ่าน Line “ห่วงใย” กรมการแพทย์ ย้ำ สารสกัดกัญชา ใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ไม่ใช้สันทนาการ

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา กรมการแพทย์ ยืนยันจุดยืนการใช้ประโยชน์จากสารสกัดกัญชาในทางการแพทย์เท่านั้น ไม่ใช้ในเรื่องสันทนาการ เนื่องจากสารสกัดกัญชามีทั้งคุณประโยชน์และข้อควรระวัง ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำของแพทย์

ติดกัญชา

ใช้สารสกัดกัญชา เป็นทางเลือกรอง

อีกทั้ง เน้นย้ำการใช้สารสกัดกัญชาในทางการแพทย์ ให้เป็นทางเลือกรองจากการรักษาและใช้ยาตามมาตรฐาน แล้วไม่เกิดประสิทธิผล ซึ่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

โดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้โรงพยาบาล เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ ทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบัน รวมถึงการจัดอบรมให้ความรู้กับแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ในการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งติดตามผลการรักษาและผลข้างเคียงจากการใช้สารสกัดกัญชา

สำหรับโรค/ภาวะที่ใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ อาทิ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายาก ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาทส่วนกลาง การดูแลแบบประคับประคองในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย เป็นต้น

ติดกัญชา

Official Line “ห่วงใย” ผู้ใช้สารสกัดกัญชา ประเมินการเสพติดด้วยตนเอง

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการแพทย์ได้มีมาตรการเฝ้าระวังภาวะเสพติด กัญชาด้วยตนเอง

โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟู ผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ได้จัดทำ Official Line “ห่วงใย” เพื่อให้ผู้ใช้สารสกัดกัญชา สามารถประเมินการเสพติด กัญชาได้ด้วยตนเอง รวมถึงได้จัดสายด่วน 1165 ในการคำแนะนำ ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับยาเสพติด รวมถึงสารสกัดกัญชาไว้ด้วยแล้ว

ติดกัญชา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo