Politics

‘หมอธีระ’ ย้ำชัด!! ด้วยข้อมูลที่มีระวังการระบาดซ้ำช่วง ‘มิถุนายน’

“หมอธีระ” เผยล่าสุดยอดติดเชื้ออยู่ที่ 117,706,141 คน เสียชีวิต 2,610,563 คน ระบุด้วยข้อมูลที่มี ช่วงที่ต้องระวังจะเกิดซ้ำคือ “มิถุนายน” ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อย ๆ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร ลดละเลี่ยงการกินดื่มร่วมกัน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat รายงาน ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้ โดยระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 9 มีนาคม 2564… เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 302,707 คน รวมแล้วตอนนี้ 117,706,141 คน ตายเพิ่มอีก 6,319 คน ยอดตายรวม 2,610,563 คน

  • อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 46,097 คน รวม 29,733,325 คน ตายเพิ่มอีก 737 คน ยอดตายรวม 538,460 คน
  • อินเดีย ติดเพิ่ม 15,353 คน รวม 11,244,624 คน
  • บราซิล ติดเพิ่ม 32,321 คน รวม 11,051,665 คน
  • รัสเซีย ติดเพิ่ม 10,253 คน รวม 4,333,029 คน

หมอธีระ

  • สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 4,712 คน รวม 4,223,232 คน
  • อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักพันถึงหลักหมื่นต่อวัน
  • แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
  • แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า
  • ในขณะที่แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักพัน
  • เกาหลีใต้ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนเมียนมาร์ จีน สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

มองดูการระบาดตอนนี้ อเมริกาและยุโรปบางส่วน ดูมีแนวโน้มจัดการการระบาดได้ดีขึ้น เช่น สหราชอาณาจักร ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่อาการดูทรง ๆ

บางประเทศเข้าสู่ระลอกสี่ไปแล้ว เช่น สาธารณรัฐเช็ค อิสราเอล ในขณะที่เนเธอร์แลนด์กำลังอยู่ในช่วงที่จะเข้าสู่ระลอกสี่ มีจำนวนการติดเชื้อหลักหลายพันต่อวันมาอย่างต่อเนื่อง

ใกล้บ้านเรา กัมพูชามีการติดเชื้อหลักสิบติดต่อมากว่าสองสัปดาห์ แต่หากไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ น่าจะจัดการได้ภายใน 2 – 4 สัปดาห์ถัดจากนี้เนื่องจากต้นทุนเดิมมีการติดเชื้อน้อยมาก

เหลียวดูสถานการณ์ของเรา…

ต่างจากกัมพูชานะครับ ระลอกสองที่ผ่านมาของเรานั้นมีการติดเชื้อกระจายทั่ว และหลายพื้นที่รุนแรงมาก โดยไม่สามารถตรวจอย่างถ้วนทั่ว และเลือกดำเนินมาตรการให้คนไปมาหาสู่กันได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะวิเคราะห์มุมใด ก็คงได้ข้อสรุปไปในทางที่ว่า การติดเชื้อแพร่เชื้อในชุมชนนั้นมีแน่นอน ดังจะเห็นได้จากสถิติรายวันตลอดช่วงที่ผ่านมา ประเมินแล้วไม่มีโอกาสที่จะเห็นการปลอดเชื้อในประเทศได้

โจทย์จึงมี 2 ข้อหลักให้วิเคราะห์ และใช้วางแผนชีวิต

ข้อแรก โอกาสที่จะปะทุซ้ำเป็นระลอกสามแบบประเทศอื่นๆ ทั่วโลกมีมากน้อยเพียงใด?

ตอบ : ได้แลกเปลี่ยนไปแล้วหลายครั้ง นั่นคือ หากพ้นกลางเดือนมีนาคมไปแล้ว จำนวนการติดเชื้อต่อวันจะเป็นตัวกำหนดระยะคงที่ (grace period) ก่อนมีโอกาสปะทุซ้ำ กล่าวคือ หากกดการระบาดให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ระยะคงที่นั้นก็จะยาว แต่หากจำนวนติดเชื้อต่อวันมีสูง ระยะคงที่ก็จะสั้นลงตามลำดับ

เฉลี่ยแล้ว หากเป็นหลักสิบต่อวัน คาดว่าจะมีระยะเวลาราว 10 สัปดาห์ (72 วัน) บวกลบสองสัปดาห์ แต่หากเพิ่มขึ้นแต่ละหลัก ระยะคงที่จะสั้นลงราว 21 วันต่อหลักที่เพิ่มขึ้น

แปลว่า ด้วยข้อมูลที่มี ช่วงที่ต้องระวังจะเกิดซ้ำคือ มิถุนายน

ข้อสอง ด้วยต้นทุนการติดเชื้อของไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันและสถานการณ์เรื่องวัคซีนที่มีจำกัดทั้งในด้านปริมาณและชนิดวัคซีนที่ใช้อยู่ หากดำเนินมาตรการผ่อนคลาย จัดงานสงกรานต์ รวมถึงกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศผ่านรูปแบบต่างๆ ทั้งเที่ยวเอง และทัวร์ ดังที่มีข่าวออกมานั้น จะส่งผลต่อการระบาดหรือไม่?

ตอบ : ส่งผลต่อโอกาสเกิดระบาดแน่นอน ตรงไปตรงมาตามหลักวิชาการแพทย์ครับ เมื่อใดที่ในพื้นที่นั้นมีคนติดเชื้ออยู่ หากมีกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคน ทำให้แออัดมากขึ้น จำนวนกิจกรรมมากขึ้น โอกาสพูดคุยใกล้ชิดและสัมผัสกันย่อมมากขึ้น หากสุดท้ายแล้วไม่เกิดการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อมากขึ้น ก็คงต้องกลับไปทบทวนอย่างหนักว่าหลักวิชาการดังกล่าวนั้นคงใช้ไม่ได้อีกต่อไป

ถามต่ออีกว่า จะมีทางลดความเสี่ยง ลดโอกาสในการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อหรือไม่

คงต้องบอกว่า ด้วยภาพการระบาดของเราในปัจจุบัน ไม่คิดว่าจะทำให้ปลอดโรคได้อีกแล้ว และมีแนวโน้มว่าหลายพื้นที่ จะมีการติดเชื้อที่ชุมกว่าพื้นที่อื่นด้วยซ้ำ ดังนั้น การใช้ชีวิตทั้งอาศัยอยู่ในพื้นที่ ทำงาน และท่องเที่ยว จึงควรได้รับการปรับเปลี่ยนเพื่อลดความเสี่ยง ลดโอกาสในการแพร่เชื้อติดเชื้อ

จะดีที่สุดหากรูปแบบธุรกิจค้าขายและการให้บริการ ควรนำมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมป้องกันโรคไปทำอย่างเคร่งครัด และทำอย่างถาวร เพื่อปกป้องทั้งลูกค้าและตัวธุรกิจเอง หากต้องการจะอยู่ไปในระยะยาว โดยไม่เจอระบาดซ้ำในกิจการของตนเองหรือพื้นที่ที่ตั้ง

แต่หากยังดำเนินไปแบบเดิม หรือทำบ้างไม่ทำบ้าง ก็อาจแจ็คพอตเจอการติดเชื้อ ต้องปิดกิจการเป็นระยะ หรืออาจปิดยาวหากเกิดการระบาดมาก

ดังนั้น หากมีการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวตามข่าวที่ออกมา ก็คงต้องร่วมด้วยช่วยกันป้องกันตัวให้ดี ทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้าง รวมถึงลูกค้าที่ไปใช้บริการต่าง ๆ

ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อย ๆ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร ลดละเลี่ยงการกินดื่มร่วมกัน และคอยสังเกตอาการตนเอง หากไม่สบาย ควรงดการเที่ยว การปฏิบัติงาน และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน

ด้วยรักและปรารถนาดี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK