Politics

ปลูกกัญชาทุกอำเภอ! ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน ลุยศูนย์วิจัยฯกัญชาทางการแพทย์

ปลูกกัญชาทุกอำเภอ ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน เร่งขยายศูนย์วิจัยฯ กัญชาทางการแพทย์ ใช้ปรุงยาไทย 16 ตำรับ  พร้อมยกระดับ ใช้ประโยชน์กัญชา สู่ระดับสากล เชื่อสร้างรายได้มหาศาล

ปลูกกัญชาทุกอำเภอ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนากัญชาทางการแพทย์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูก และแปรรูปบุกเกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด ตรวจเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนากัญชาทางการแพทย์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูก และแปรรูปบุกเกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม  ติดตามการขยายการปลูกกัญชา สู่วิสาหกิจชุมชนในแต่ละอำเภอ นำร่องอำเภอละ 1 วิสาหกิจชุมชน

ปลูกกัญชาทุกอำเภอ

โดยกลุ่มวิสาหกิจฯลงทุนร่วมกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทำการเพาะปลูก และทางศูนย์วิจัยฯเป็นผู้รวบรวมและตรวจสอบมาตรฐาน เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงในการนำไปใช้ปรุงยาไทย 16 ตำรับ เชื่อว่าหากขยายผลสู่ชุมชนในแต่ละวิสาหกิจ จะสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้อย่างมหาศาล ศูนย์วิจัยฯได้รับการอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีการควบคุมการผลิตได้อย่างมีมาตรฐานทุกประการ

สำหรับ ศูนย์วิจัยและพัฒนากัญชาทางการแพทย์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุกเกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม ตั้งขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้ในทางการแพทย์ โดยร่วมกันวิจัยการสกัดสารและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกัญชาและกัญชง เพื่อใช้ในทางการแพทย์ ตลอดจนยกระดับ การใช้ประโยชน์กัญชาสู่ระดับสากล ในอนาคตจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะเสนอแนวทางการขยายการเพาะปลูกกัญชาสู่วิสาหกิจชุมชน โดยจะนำร่องอำเภอละ 1 วิสาหกิจชุมชนต่อไป

ปลูกกัญชาทุกอำเภอ

ปลูกกัญชาทุกอำเภอ

ทั้งนี้ ดำเนินการปลูกกัญชารุ่นแรก เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563 จำนวน 320 ต้น 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย กัญชาสายพันธุ์เพชรบุรี ตะนาวศรี หางกระรอกด้ายแดง และหางกระรอกอีสาน และได้ส่งมอบผลผลิตกัญชาชุดแรก ประกอบด้วย ดอกกัญชาสด 14.45 กิโลกรัม กัญชาแห้ง 94.32 กิโลกรัม ให้กับกรมการแพทย์แผนไทยฯ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563

ครม.เดินหน้าปลดล็อกกัญชาเสรี ปลูกกัญชาทุกอำเภอ 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่..)พ.ศ. …. ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข เสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายฉบับเดิมที่ใช้เมื่อปี 2562 ฉบับใหม่ที่แก้ไขนี้มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้ผู้ป่วยที่ ได้รับการรับรองจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอชาวบ้าน ผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตด้านเกษตรกรรมและเกษตรกร ที่ดำเนินการผลิตภายใต้ความร่วมมือ กับผู้รับอนุญาตผลิต  ยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร และบุคคลอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ให้โทษกำหนด สามารถได้รับใบอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 หรือกัญชาได้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะช่วยแก้ไขปัญหา การเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชนที่ต้องการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค และปัญหาการพัฒนาองค์ความรู้และต่อยอดกัญชาทางการแพทย์

ทั้งนี้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการปลดล็อกกัญชานั้น กำหนดให้เฉพาะหน่วยงานของรัฐ หรือผู้ขออนุญาต ที่ต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐเท่านั้นจึงจะสามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออกได้ ส่งผลให้การพัฒนาองค์ความรู้ และการต่อยอดกัญชาทางการแพทย์อยู่ในวงจำกัด

ขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ไม่สามารถขออนุญาตปลูกกัญชาเพื่อนำมาปรุงยาตำรับที่มีกัญชา เป็นส่วนผสมสำหรับคนไข้ได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563

ขณะเดียวกัน ในกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดเกี่ยวกับกระบวนการเก็บรักษาและทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง โดยกำหนดให้ กรณีที่มีการยึดหรือริบยาเสพติดให้โทษ เมื่อได้มีการตรวจชนิดและปริมาณแล้วว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ ให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ที่กระทรวงสาธารณสุขมอบหมาย สามารถทำลาย หรือนำยาเสพติดดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาการเก็บรักษายาเสพติดของกลางไว้เป็นเวลานาน ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและสถานที่เก็บรักษา

ทั้งนี้หลังจาก ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

กัญชาเสรี: นโยบายต่อรัฐสภา

ขณะที่ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหาร และยา กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ตามที่รัฐบาล โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงนโยบายต่อรัฐสภา  รวมถึงนโยบายเร่งด่วนข้อ 4  ที่ให้ความสำคัญในการต่อยอดภูมิปัญญา และความรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อสร้าง นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป รวมถึง ศึกษา วิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจนั้น

ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ผู้ป่วยที่ต้องการรักษาโรคด้วยกัญชา ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน ยังไม่สามารถปลูกกัญชาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยของตน ส่งผลให้การรักษาด้วยภูมิปัญญาไทย ไม่ได้รับการต่อยอดและพัฒนาเท่าที่ควร เป็นข้อจำกัดต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาไทยสู่ระดับโลก

“ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…) พ.ศ … เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 4 สิงหาคม 2563 เพื่อผลักดันการใช้พืชกัญชาทางการแพทย์ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล”

ดดยร่างกฎหมายดังกล่าว ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน  ได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษแล้ว ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด สํานักงานตํารวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ (ป.ป.ส.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แพทยสภา สภาการแพทย์แผนไทย สภาเภสัชกรรม กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight