Politics

เดินหน้า One Transport เชื่อมการเดินทาง‘ล้อ ราง เรือ’

194388

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2561  เกี่ยวกับแผนการบริหารจัดการและพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทาง (ล้อ ราง เรือ) ของกรุงเทพมหานคร ที่ต้องเร่งสร้างโครงการต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชนในกรุงเทพฯและปริมณฑล

ทั้งนี้ การจราจรติดขัดเป็นปัญหาที่สะสมต่อเนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมืองที่ไร้ยุทธศาสตร์ ไร้ข้อจำกัด ขณะเดียวกันการสัญจรของรถต้องอาศัยถนนเป็นหลักของกรุงเทพฯ ซึ่งมีถนน 4,300 กิโลเมตร เป็นถนนสายหลัก  1 ใน 4 เท่านั้น หากเทียบพื้นที่ถนนเป็นร้อยละ กรุงเทพฯ มีเพียง 6.8% ในขณะที่มหานครเมืองใหญ่ ๆ ของโลก เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มีพื้นที่ถนน 21-36% เป็นต้น

ส่วนการเดินทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จากการศึกษา พบว่าในปี 2564 ประชาชนมีความต้องการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้นอีกประมาณ 4.8 แสนคนต่อวันและในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.4 แสนคนต่อวัน

ดังนั้นจึงมีแนวทางแก้ปัญหาเหล่านั้น ด้วยการส่งเสริมให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล พร้อมหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะการผลักดันให้ระบบรางเป็นแกนหลักในการเดินทางและขนส่ง สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ภายในปี 2575 จะต้องเร่งลงทุนสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครบ ทั้ง 10 สาย ระยะทางรวม 464 กิโลเมตร

ประกอบกับนโยบาย One Transport” ที่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อการเดินทางล้อ ราง เรือ แบบไร้รอยต่อ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกให้เข้าถึงบริการระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ทั้งรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รถตู้ประจำทาง วินมอเตอร์ไซค์ รถไฟฟ้า เรือด่วนเจ้าพระยา  เป็นต้น

เดินเรือเส้นทางใหม่-หนุนวิถีชุมชน

นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครได้เปิดทดลองเดินเรือเส้นทางใหม่ ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นมา เพื่อจะเชื่อมโยงระบบคมนาคมทางน้ำกับโครงข่ายสาธารณะอื่น ๆ ตามนโยบาย ล้อ ราง เรือ ตั้งแต่ท่าเรือสะพานตากสิน-เพชรเกษม (บางหว้า) คลองภาษีเจริญ ถึงท่าเรือวัดกำแพงบางจาก คลองบางกอกใหญ่ ในระยะทดลองนี้ เป็นบริการให้แก่ประชาชนโดยไม่เก็บค่าโดยสารในทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. โดยเรือจะออกทุก 30 นาที มีท่าเรือที่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสบางหว้า และจุดจอดรถโดยสารประจำทาง ซึ่งผ่านเส้นทางที่เป็นย่านท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ตลาดคลองบางหลวง บ้านศิลปิน และชุมชนร้านค้าโบราณ เป็นต้น

ในการทดลองใช้เส้นทางเดินเรือดังกล่าวของกรุงเทพมหานคร รัฐบาลได้เห็นศักยภาพในการพัฒนาตามโครงการที่ฟื้นวิถีชีวิตชุมชน ผ่านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ สมัยธนบุรี ชุมชนคลองบางหลวง ที่สามารถนำไปสู่การเป็นต้นแบบของเขตเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมได้ในอนาคต และกระตุ้นเศรษฐกิจคลองบางหลวงย่านฝั่งธน ในรูปแบบการส่งเสริมสตาร์ทอัพ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตชุมชน นอกเหนือจากเขตบางรักแล้ว ยังเริ่มมี Boutique Hotels ในย่านบ้านขุนน้ำขุนนาง คลองบางหลวง หรือการตั้งร้านอาหารและตลาดน้ำชุมชน เป็นต้น

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight