Politics

รู้จัก ‘เคอร์ฟิว’ ก่อนประกาศใช้ทั่วประเทศ 3 เม.ย. 63

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “เคอร์ฟิว (curfew) จนชินหู แต่ไม่แน่ใจว่าความหมายที่แท้จริงของเคอร์ฟิวคืออะไร เพราะไม่ใช่เรื่องที่ใกล้ตัวเท่าใดนัก

fig 02 04 2020 11 32 35

จนกระทั่งวันนี้ (2 เม.ย.) “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. วันรุ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (3 เม.ย.) เป็นต้นไป เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 หมื่นบาท หรือทั้งจํา ทั้งปรับ ตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

เคอร์ฟิว…จึงกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวของคนไทยทุกคน

สำหรับการประกาศเคอร์ฟิว คือ การประกาศห้ามประชาชนออกจากเคหสถานในบริเวณพื้นที่ที่กำหนด ตามระยะเวลาที่ระบุไว้อย่างชัดเจน โดยเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ภายใต้บังคับของกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง ในเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ เช่น สงคราม หรือมีเหตุกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐอย่างรุนแรง เป็นต้น

โดยประเทศไทยมีกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงให้อำนาจแก่รัฐในการประกาศเคอร์ฟิวอยู่หลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานภายในระหว่างระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา11(6) และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งในกรณีนี้เป็นอย่างหลัง

ด่าน ทางหลวงชนบท 2

เว็บไซต์ไอลอว์ (iLaw) ซึ่งผลักดันกิจกรรมทางสังคมและรณรงค์ปฏิรูปกฎหมาย ตั้งข้อสังเกตว่า ในอดีตที่ผ่านมา อาจแบ่งสาเหตุการประกาศเคอร์ฟิวออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ การทำรัฐประหาร,  การชุมนุมทางการเมือง และปัญหาด้านความมั่นคง การประกาศเคอร์ฟิวเพื่อยับยั้งโรคระบาดในครั้งนี้จึงถือเป็นกรณีพิเศษ แตกต่างจากในอดีต

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ไอลอว์เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การประกาศเคอร์ฟิวมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพลเมืองอย่างรุนแรง จึงควรเป็นมาตรการที่หยิบออกมาใช้ในฐานะตัวเลือกสุดท้าย (The last resort) รวมทั้งระยะเวลาการประกาศเคอร์ฟิวก็ควรจะสั้นที่สุด เพื่อให้กระทบต่อเสรีภาพและวิถีชีวิตของประชาชนให้น้อยที่สุดด้วย

Avatar photo