Politics

ย้อนไทม์ไลน์ ‘ทักษิณ’ เข้าไทย นอนรพ.ตำรวจ 6 เดือน ก่อนได้ ‘พักโทษ’

ย้อนไทม์ไลน์ “ทักษิณ” เข้าไทย นอนรพ.ตำรวจ 6 เดือน ก่อนได้ “พักโทษ” เตรียมปล่อยตัวเร็วๆนี้ 

หลังจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่ามีรายชื่อของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ในรายชื่อผู้ที่จะได้รับการพักโทษ เนื่องจากเข้าเกณฑ์ผู้ต้องขังสูงอายุ มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง และที่สำคัญได้เข้าสู่กระบวนการรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 หรือ 6 เดือน จึงเข้าเงื่อนไขพิจารณาพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป

ย้อน

thebangkokinsight จะพาย้อนไทม์ไลน์ นับตั้งแต่นายทักษิณเดินทางกลับเข้าประเทศ จนวันนี้อยู่ในรายชื่อผู้ที่จะได้รับการพักโทษ และจะได้รับการปล่อยตัวเร็วๆนี้

•22 สิงหาคม 2566 ทักษิณ กลับเข้าประเทศไทย ด้วยเครื่องบินเจ็ต Gulfstream รุ่น G 650(Business Jets) จากสนามบินสิงคโปร์ มายังอาคารไพรเวท เจ็ต (MJets) ท่าอากาศยานดอนเมือง ก่อนถูกคุมตัวไปรับโทษที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กระทั่งเวลา 00.30 น. ถูกย้ายตัวด่วนออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปรักษาตัวที่ โรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากอาการป่วยกำเริบ และความดันขึ้นสูง

•28 สิงหาคม 2566 พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) แจ้งขออายัดตัวทักษิณต่อกรมราชทัณฑ์ ในความผิดคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เหตุจากพฤติการณ์เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 58 ที่เคยให้สัมภาษณ์สื่อที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และประเทศไทยเกี่ยวพันกัน

•20 กันยายน 2566 ทักษิณรักษาตัวที่ โรงพยาบาลตำรวจ ครบ 30 วัน กรมราชทัณฑ์ให้เหตุผลว่า จากรายงานความเห็นของแพทย์ ระบุเหตุความจำเป็นที่ต้องรับการรักษาตัวเกิน 30 วัน เนื่องจากการรักษายังไม่สิ้นสุด เพราะได้เข้ารับการผ่าตัด และยังคงต้องรักษาตัวอยู่ต่อที่ โรงพยาบาล

•13 ตุลาคม 2566 ปรากฏภาพถ่ายฮือฮาในโซเชียลมีเดีย เป็นภาพบริเวณทางเดินตรงข้ามอาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา รพ.ตำรวจ เป็นภาพการเคลื่อนย้ายทักษิณในชุดคนไข้สีฟ้า สวมหน้ากากอนามัยนอนอยู่บนเตียงเข็นผู้ป่วย อ้างว่าเป็นการนำตัวไปทำ CT Scan (ซีทีสแกน) และ MRI (เอ็มอาร์ไอ)

•21 ตุลาคม2566 ทักษิณรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ครบ 60 วัน กรมราชทัณฑ์ให้เหตุผลว่า เนื่องจากความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจการรักษาเห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องรักษาตัวอยู่ต่อ แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดการเจ็บป่วยได้ เป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยและตามจรรยาบรรณของแพทย์ อีกทั้งไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณชนตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

•23 ตุลาคม 2566 ทักษิณ ถูกนำตัวเข้ารับการผ่าตัด ณ ห้องผ่าตัดออร์โธปิดิกส์ รพ.ตำรวจ หลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้น ถูกนำตัวมาพักที่ห้องไอ ซี ยู ศัลยกรรมประสาท

•11 มกราคม 2567 ทักษิณ นอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำที่ รพ.ตำรวจ เกินกว่า 120 วัน อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยพิจารณาจากความเห็นแพทย์ที่มีความเห็นว่ายังต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด

•17 มกราคม 2567 นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน และคณะ ร่วมกับพนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้เดินทางเข้าพบทักษิณ ที่ รพ.ตำรวจ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ โดยทักษิณปฏิเสธข้อกล่าวหาและยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด

•6 กุมภาพันธ์ 2567 อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยืนยันได้รับรายชื่อผู้ต้องขังทั่วประเทศที่เข้าเกณฑ์โครงการพักการลงโทษทั้งแบบปกติและแบบกรณีมีเหตุพิเศษ จำนวนกว่า 1,000 ราย อยู่ระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติ ยอมรับว่าทักษิณเป็นผู้ต้องขังสูงอายุ และมีอาการเจ็บป่วย

ล่าสุด 13 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ ทำเนียบรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันชัดเจนทักษิณ มีชื่อเป็น 1 ใน 930 รายชื่อ ที่จะได้รับการพักโทษรอบต่อไป โดยเป็นไปตามเกณฑ์เพราะต้องโทษมาแล้ว 1 ใน 3 คือ 6 เดือน

ส่วนขั้นตอนการรายงานตัวของผู้ได้รับการพักโทษนั้น กรมคุมประพฤติจะเป็นผู้กำหนดแนวทางการปฏิบัติและเงื่อนไข รวมถึงข้อห้ามร่วมกับผู้ที่ได้รับการพักโทษให้ปฏิบัติตาม ซึ่งผู้ได้รับการพักโทษที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ไม่ต้องใส่กำไล EM ซึ่งเรื่องนี้เป็นมติของกรรมการที่มีมานานแล้วว่าผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป เจ็บป่วย หรือพิการ ไม่ต้องใส่กำไล EM เพราะถือว่าอยู่ในเงื่อนไข

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo