Politics

‘ดิเรกฤทธิ์’ ชี้ใครถอนชื่อก่อนยื่นซักฟอกรัฐบาล ต้องตอบสังคมให้ได้

“สว.ดิเรกฤทธิ์” ไม่กังวลสมาชิกถอนชื่อออกก่อนยื่นซักฟอกรัฐบาล ตามมาตรา153 ส่วนใครถอนต้องตอบสังคมให้ได้ แต่เชื่อไม่มีการถอน มีแต่จะลงชื่อเพิ่ม

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ว่า เราจะเสนอเรื่องไปที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในวันที่ 22 มกราคม นี้ เมื่อเราเสนอไปแล้ว นายพรเพชรจะต้องนำเรื่องส่งไปให้รัฐบาล ซึ่งขณะนี้สามารถรวบรวมเสียงได้ 90 กว่าเสียงแล้ว จึงจำเป็นต้องมีการหารือกับรัฐบาล เช่น จะให้เวลาในช่วงไหน อย่างไร หรือให้เวลากี่วัน หลังจากนั้นเราจะนำเข้าสู่วิปวุฒิสภาเพื่อจัดสรรเวลากันอีกครั้ง

ถอน

นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เราเป็นเหมือนผู้ก่อการ มีความคิดเห็นและได้พิจารณาถึงอำนาจและหน้าที่ รวมถึงเวลาที่มีอยู่ว่าควรจะเปิดอภิปรายหรือไม่อย่างไร หากเปิดแล้วจะได้ประโยชน์กับใคร ซึ่งเมื่อเราได้ความคิดเห็นแล้วว่าจะเปิดอภิปราย ก็ได้ส่งเรื่องไปให้สมาชิกแต่ละท่านพิจารณา พบว่ามีคนเห็นด้วยเยอะ นอกจากนี้จะมีการส่งเรื่องไปยัง กมธ.อื่นๆ ด้วยว่าท่านมีรายละเอียดเพิ่มเติมในแต่ละหัวข้อที่เราเคยเสนอไปหรือไม่ อย่างไรบ้าง หรือจะเพิ่มประเด็นอะไรหรือไม่

อย่างไรก็ตาม จากที่ได้รับการประสานและพูดคุยเบื้องต้นนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลตอบรับมาอย่างดี หากท่านตอบรับ และมีความรับผิดชอบต่อสภา ก็สามารถใช้เวทีนี้มาอธิบายให้ประชาชนเพื่อคลายข้อสงสัยได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก ไม่ใช่ปล่อยให้คนที่ไม่เข้าใจไปกล่าวหารัฐบาลว่าทำเช่นนั้น เช่นนี้ไม่ถูก เมื่อเราตั้งคำถามไปแล้วรัฐบาลสามารถใช้เวลาตอบคำถามได้อย่างเต็มที่ จึงคิดว่าเวทีนี้เป็นเวทีที่สำคัญ

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่า สว.ที่ลงชื่อไปแล้ว ท้ายที่สุดจะมีการถอนชื่อทำให้ไม่สามารถเสนอญัตติดังกล่าวได้ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่กังวล เพราะเห็นว่าทุกคนเป็นผู้ใหญ่อยู่แล้ว รวมถึงก่อนลงชื่อก็มีการพิจารณาประเด็นต่างๆ ดีแล้ว หากลงชื่อและมีการถอนภายหลัง เขาก็ต้องอธิบายกับสังคมให้ได้ และคิดว่าจะมีการลงชื่อเพิ่ม ไม่มีการถอน เราพร้อมที่จะเปิดเผยรายชื่อผู้ที่ลงชื่อให้สังคมได้รับทราบ

ส่วนรูปแบบการอภิปรายว่าจะเป็นในนาม กมธ.หรือให้เอกสิทธ์ สว.ทุกคนสามารถอภิปรายได้นั้น ต้องมีการดูรายละเอียดอีกครั้ง ขณะที่กรอบเวลาที่เหมาะสมในการอภิปรายนั้น เนื่องจากเรื่องนี้เราเห็นว่าเป็นเรื่องด่วน เพราะบางเรื่องหากปล่อยให้ช้าไป แล้วหากรัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาจมีการเดินเรื่องไปผิดทาง จึงคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เร่งรีบจะต้องมีการเปิดอภิปรายให้ทันเวลา ก่อนที่ความเสียหายจะเกิดขึ้น หรือก่อนที่รัฐบาลจะก้าวพลาด ผมมองว่า 1-2 วัน จะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ก็อยู่ที่ความพร้อมของรัฐบาลนายดิเรกฤทธิ์ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo