Politics

สรุปทุกประเด็น นายกฯเศรษฐา ประชุม UNGA78 ผลักดันการลงทุนสู่ประเทศไทย

พรรคเพื่อไทย สรุปผลนายกฯเศรษฐา เข้าร่วมประชุม UNGA78 โชว์วิสัยทัศน์ประเทศไทย พบบุคคลและนักธุรกิจสำคัญ ผลักดันการลงทุนสู่ประเทศไทย

เพจเฟซบุ๊ก พรรคเพื่อไทย โพสต์กรณี นายกฯเศรษฐา เดินทางถึงไทยพร้อมความสำเร็จจากการเข้าร่วมประชุม UNGA78 โชว์วิสัยทัศน์ประเทศไทย พบบุคคลและนักธุรกิจสำคัญ ผลักดันการลงทุนสู่ประเทศไทย โดยระบุว่า

นายกฯเศรษฐา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางถึงประเทศไทย หลังเสร็จสิ้นภารกิจเข้าร่วมการประชุม UNGA78 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นการเดินทาง 4 วันที่มีภารกิจมาก ขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศ BOI และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ช่วยทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วง

สรุป 8 ประเด็นสำคัญ นายกฯเศรษฐา ประชุม UNGA78

1. การประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้พบปะกับผู้นำต่างประเทศหลายประเทศที่เข้าร่วมการประชุมและได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมทั้งสิ้น 5 ครั้ง พบผู้นำองค์กรระหว่างประเทศสำคัญ และได้พบปะหารือผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ระหว่างประเทศหลายบริษัท อาทิ Tesla Google Microsoft Citibank JP Morgan Estee lauder

ขณะที่บริษัทเหล่านี้ให้ความสนใจการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมให้การสนับสนุน โดยหลัก ๆ แบ่งเป็นสองภาคส่วนคือบริษัทเทคโนโลยี และบริษัทการเงิน รวมถึงได้หารือกับผู้นำตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ที่มีศักยภาพมากและพยายามจะผลักดันให้ภายในปีนี้มีอย่างน้อยหนึ่งบริษัทของไทยที่ได้ไปลงทุน

2. นายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือกับผู้บริหาร FIFA และพูดคุยถึงอาเซียนที่จะมีโอกาสเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดฟุตบอลโลกภายในปี 2575 หรือในอีก 9 ปีข้างหน้า แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่ก้าวแรกคือความต้องการให้เกิดการสนับสนุนในเรื่องของการพัฒนาฟุตบอลไทย โดยเฉพาะในระดับเยาวชน จากเดิมที่สนับสนุนปีละ 2.5 แสนดอลลาร์ เป็น 2 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งค่อนข้างเป็นเงินจำนวนที่เยอะพอสมควร

เศรษฐา3 1

3. ปีนี้สหประชาชาติมีหัวข้อหลักที่จะให้ทุกประเทศร่วมกันแก้ปัญหาความแตกแยกช่วยกันผลักดันตัวชี้วัด SDG 17 ข้อ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแก้ไขปัญหาด้วยประเทศเดียว ทั่วทั้งโลกต้องให้ความร่วมมือสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ในส่วนของภาวะโลกร้อน รวมไปถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน

4. นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จุดมุ่งหมายสำคัญในการไปปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ คือการประกาศจุดยืนของประเทศไทย ในฐานะประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราจะยึดมั่นและช่วยผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ รวมไปถึงการส่งเสริมการเกษตร และเศรษฐกิจพอเพียงผ่านปรัชญาอารยเกษตร

การทำใช้ 30 บาทรักษาทุกโรคอัพเกรด ทำให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกใช้บริการสาธารณสุขของรัฐอย่างสมเกียรติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่าปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่อย่างยิ่ง จะต้องได้รับการดูแลป้องกัน

5. หลังจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นการเข้าร่วมการประชุมเอเปค ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้นัดหมายกับหลายบริษัทหารือและจะเชิญบริษัทของไทยที่ประสงค์จะเปิดประตูการค้ากับต่างประเทศ โดยจะจัดเป็นเวทีให้กับบริษัทของไทยได้พบกับบริษัทใหญ่ ๆ ของทางสหรัฐ

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทไทยได้มีโอกาสไปลงทุนในต่างประเทศ และให้นักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนที่ไทย ซึ่งต้องทำทั้งสองทางเพื่อเปิดช่องทางสร้างรายได้ให้ประเทศ

6. การสนับสนุนการค้าและการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจประเทศนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจากการไปพูดคุยพบว่าจะมี 2 ภาคส่วน คือภาคอุตสาหกรรม เช่น Tesla, Microsoft, Google และภาคการเงิน

ภาคการเงินเป็นส่วนสำคัญเพราะถ้ามีบริษัทต่างประเทศเข้ามาตั้งสำนักงาน เขาต้องการการสนับสนุนด้านการเงิน และถ้ามีการลงทุนข้ามชาติมาก เราต้องการตัวกลางที่มีความเข้มแข็งรอบรู้ทุกเรื่องเช่น Citibank, JP Morgan ที่เขามีใบอนุญาตครบ แต่เขายังไม่ได้เข้ามาดำเนินการ

ส่วน Goldman Sachs เขายังไม่ได้ตั้งสำนักงานในไทยแต่บริหารจากสิงคโปร์ ดังนั้น ถ้ามีการลงทุนข้ามชาติมากขึ้นก็อาจมีความคุ้มค่าในการตั้งสำนักงานในไทย

เศรษฐา4

7. ผู้สื่อข่าวถามว่าสถานการณ์การเมืองจะเป็นอุปสรรคหรือสร้างความกังวลให้นักลงทุนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ตอบว่า ตอนนี้ความกังวลเรื่องนี้ลดหายหรือไม่มีเลย แต่เป็นเรื่องความสะดวกในการทำธุรกิจเรื่องกฎหมายบางข้อ เราต้องเป็นรัฐสนับสนุนให้เอกชน

ขณะที่เลขาธิการบีโอไอและกระทรวงการต่างประเทศ ก็ช่วยกันอธิบายให้นักลงทุนฟัง เราพร้อมรับฟังความคิดเห็น อะไรทำได้ก่อนเราจะทำ อะไรที่ต้องแก้ไข กฏกติกาให้เหมาะสมก็มาดูกัน

8. ผู้สื่อข่าวถามว่าธุรกิจอะไรที่ถูกหมายตาจะมาลงทุนในไทยมากที่สุด นายกรัฐมนตรี ตอบว่า อย่าง Tesla ก็จะลงทุนเรื่องการเปิดโรงงานรถยนต์อีวี Microsoft และ Google ก็จะมาดูเรื่องการทำศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งจะต้องมีการลงทุนสูงมากประมาณอย่างน้อย 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อราย สำหรับการลงทุนเบื้องต้น

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึง Goldman Sachs ก็จะลงทุนสูงขึ้นอีกเพราะถ้ามีการตั้งสำนักงานที่ไทย ก็อาจมีโอกาสไปเผยแพร่เรื่องของความน่าอยู่ หรือตัวเลขทางเศรษฐกิจที่บ่งบอกความเจริญของประเทศ อาจทำให้บริษัทอื่นที่ไม่ใช่บริษัทใหญ่ แต่เป็นขนาดกลางขึ้นไปสนใจเข้ามาลงทุนอีกมาก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo