Politics

จับตา ‘GEN Y’ กับอนาคตการเมืองไทย

ใกล้วันเลือกตั้งเข้ามาแล้ว มีกลุ่มคนที่น่าจับตากำลังถูกยื้อแย่งกันยกใหญ่ คือ  First Time Voters หรือ วัยรุ่นที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก ที่เป็นกลุ่มก้อนใหญ่หลายล้านคน กลุ่มนี้มีความต้องการอย่างไร และมีบทบาทอย่างไร ?? ” โครงการวิจัยประเมินผลการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562″ โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหาร ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ประเมินพฤติกรรมการเลือกตั้งของผู้เลือกตั้งครั้งแรก ว่า “อยากเลือกในแบบที่แตกต่างไปจากเดิม”

LINE P20190310 162659734
ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

การศึกษาพบว่า คนกลุ่มนี้จะเทไปเลือก “พรรคอนาคตใหม่” ซึ่งโดดเด่นจากความเป็นหัวหน้าพรรค ของธนากร จึงรุ่งเรืองกิจ ด้วยเหตุที่คนรุ่นไม่ชอบทั้ง “คสช.” และ “ทักษิณ” ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก่อนหน้านี้ ไม่มีท่าทีชัดเจนเพียงพอในการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ มีการประเมินว่า “ท่าที”ของคนเลือกตั้งครั้งแรกที่ชัดเจน จะทำให้พรรคใหญ่มีคะแนนเสียงน้อยลง เป็นอีกเหตุผลที่โครงการวิจัยฯได้สรุปว่าการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 นี้จะไม่มีพรรคใดได้ส.ส.ถึงครึ่ง หรือ 250 คน

“เราไม่ได้เลือกตั้งมา 8 ปี ดังนั้นกลุ่มที่เลือกตั้งครั้งแรก จึงมากกว่าเดิมเป็น 2 เท่าตัว คนกลุ่มนี้จึงมีผลมากกว่าทุกครั้ง”

คนยุคมิลเลนเนียล (Millennials) คือ กลุ่มคนที่ถูกกล่าวถึง หรือ  Gen Y นั่นเอง ดร.ปริญญา ระบุว่า คนกลุ่มนี้ อายุ 18-25 ปี เป็นคนที่เกิดหลังยุคพฤษภาทมิฬ 2535 เป็นคนที่มี “mindset ” หรือ “ความคิด” แตกต่างไป เป็นยุคที่พ่อแม่ครูตีลูก และดุไม่ได้ ดังนั้นเขาจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก ไม่เหมือนคนยุคก่อนพฤษภาทมิฬ 2535 ที่พ่อแม่จะบังคับได้ครึ่งหนึ่งของชีวิตเขา อีก 50% ใช้เหตุและผล

IMG 20190306 121200 1
ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ร่วมในโครงการศึกษาวิจัยครั้งนี้ด้วย ระบุว่า น่าจะมีราย 7.3 ล้านคน เพราะไม่มีการเลือกตั้งมา 8 ปีแล้ว เขาเหมือน “ผ้าขาว” ไม่เคยเลือกตั้งมาเลย ถือว่ากลุ่มนี้ “ใส” มาก

แต่หากเราแยกแยะออกไป จะพบว่า แยกเป็น 2 กลุ่มย่อย จะมีราว 1.3 ล้านคนเท่านั้น ที่อยู่ในระบบการเรียนหนังสือที่จะมีข้อมูลอยู่แล้วว่าจะเลือกใคร ส่วนอีกราว 6 ล้านคนอยู่นอกระบบการเรียนหนังสือ กลุ่มนี้ไม่ Active ไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร หากจะไปเลือกตั้งคงเลือกคนที่พ่อแม่ หรือคนในครอบครัวบอกมา สุดท้ายอาจออกไปเลือกจริงแค่ “50%”

กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ และมีความสำคัญไม่น้อย  เป็นอนาคตของประเทศ จึงต้องการฝากไปถึงพรรคการเมืองทุกพรรค ช่วยกันกระตุ้นให้เขาอยากมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้ได้ก่อน แล้วค่อยไปย้ำว่า เขาควรเลือกพรรคนั้นพรรคนี้ 

แล้วจริงๆคนกลุ่มนี้มองตัวเองอย่างไร นักศึกษาภาควิชากฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนหนึ่ง วิเคราะห์ว่า กลุ่มคนเลือกตั้งครั้งแรกคึกคัก และตื่นตัวมาก เพราะไม่ได้มีการเลือกตั้งมานาน และครั้งนี้ก็มีพรรคการเมืองหลายพรรค ที่น่าสนใจซึ่งเรามองอยู่ ก็คือ มีความพยายามในการแบ่งขั้วทางการเมืองออกเป็น 2 ฝ่าย ก็คือ

1.ถ้าเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แปลว่าสนับสนุนเผด็จการ 2.ถ้าเลือกทักษิณ ชินวัตร แปลว่าสนับสนุนประชาธิปไตย แต่สำหรับตนเองแล้ว ก็ต้องดูด้วยว่าประชาธิปไตยแล้ว บริบทอื่นเป็นอย่างไร มีปัญหาเรื่องทุจริตคอรัปชั่นด้วยหรือไม่

แต่ที่มาเป็นทางเลือกที่ 3 ก็คือพรรคอนาคตใหม่ ที่หัวหน้าพรรคมีภาพชัดเจนเป็นคนรุ่นใหม่ และมีแนวคิดสอดคล้องกับคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย  คาดเดาว่าน่าจะทำให้คนเลือกตั้งครั้งแรกไปเลือกพรรคนี้กันมาก ประกอบกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นแกนนำเคลื่อนไหวภายใต้กลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” และ “ประชาธิปไตยใหม่” มาก่อนสังกัดพรรคอนาคตใหม่ ทำให้มีฐานคะแนนเสียงของคนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ไม่น้อย

“อย่างไรก็ตาม สำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะได้เลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งมี 2 กลุ่มคือ คนที่อยู่ในระบบการศึกษา จะกระตือรือร้นอยู่แล้ว ก็จะหาข้อมูลต่างๆมาวิเคราะห์ และเลือกพรรคเลือกคนที่ตรงใจ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อาจจะไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ทั้งในเมืองและต่างจังหวัด คนที่มีบทบาทกับพวกเขามาก คือพ่อแม่ และกำนันผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงผู้นำชุมชนที่อยู่รอบบ้านเขา ดังนั้นคนกลุ่มนี้จะต้องช่วยกับส่งเสริมให้เขาตื่นตัวกับการเลือกตั้ง และออกไปเลือกตั้งให้ได้ เราจึงจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ”

ความสำคัญของคนรุ่นใหม่ และกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้แหละ ที่ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ อย่างพรรคพลังประชารัฐ ชูบทบาทคนรุ่นใหม่ที่มีราว 80 คน เน้นส่งเสริมคนรุ่นใหม่เป็น “startup” ตั้งแต่เปิดตัวพรรคใหม่ๆ และจำนวนมากไม่น้อยลงสมัครในหลายๆเขต  แต่พรรคนี้อาจจะขัดอยู่สักหน่อยตรงที่คนรุ่นใหม่จำนวนมาก “ไม่” นิยม “ทหาร” การมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จึงอาจจะไม่ได้ใจคนรุ่นใหม่เท่าไหร่นัก

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ที่มี “New Dem” รวบรวมคนรุ่นใหม่ในพรรคราว 20 คน มาชูโรง เปิดตัวไล่ๆกับพรรคพลังประชารัฐ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ก็น่าสนใจไม่น้อย แต่ละคนเลือกของ “New Dem” ชูนโยบายเอาใจคนรุ่นใหม่ ทั้ง E-Sport  Universal Design การลดใช้ถุงพลาสติก หรือ การเท่าเทียมกันทางเพศ กลุ่มนี้อาจจะมีภาษีดีหน่อย ตรงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเป็น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” แต่การเป็นพรรคเก่าแก่ ที่มีระบบขึงอยู่ และการก่ำกึ่งทางการเมือง มีแนวโน้มจะจับกับพรรคพลังประชารัฐ อาจทำให้คนรุ่นใหม่สายฮาร์ดคอร์ ที่ไม่นิยม “ทหาร” ลังเล แต่พรรคนี้คงพอเดาทางถูก ท่านหัวหน้าพรรค จึงออกมาประกาศหมาดๆไม่สนับสนุน “ลุงตู่” เป็นนายกรัฐมนตรี

มาถึงวันนี้ เห็นท่า พรรคอนาคตใหม่ จะมีคู่แข่งเข้าแล้ว แต่เอาเข้าจริงจะเป็นอย่างไรก็ต้องจับตาดูกันต่อไปวันเข้าคูหาเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ คนที่มีสิทธิ์ได้ไปลงคะแนนเสียงครั้งแรก จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการเมืองได้มากน้อยเพียงใด

 

Avatar photo