Politics

‘ปดิพัทธ์’ แคนดิเดตประธานสภา โชว์วิสัยทัศน์ สร้างรัฐสภาโฉมใหม่ ‘เปิดเผย-โปร่งใส’

“ปดิพัทธ์” แคนดิเดตประธานสภา พรรคก้าวไกล เปิดแนวคิด สร้างรัฐสภาโฉมใหม่ เปิดเผย-โปร่งใส ไม่อยู่ใต้อาณัติรัฐบาล

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 และแคนดิเดตประธานสภา จาก พรรคก้าวไกล กล่าวในเวที อนาคตประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลใหม่ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

ประธานสภา

นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า มุ่งมั่นสร้างรัฐสภาไทยให้เป็น Open Parliament หรือรัฐสภาที่เปิดเผย โปร่งใส ต้องมีการเปลี่ยนแปลงองค์กรนิติบัญญัติอย่าง รัฐสภา เพื่อให้อำนาจแก่ประชาชน

พร้อมเน้นย้ำว่า กฎหมายที่เสนอโดยประชาชนต้องถูกนำมาพิจารณา เพราะที่ผ่านมากฎหมายของประชาชนเสียงไม่ดังพอ มักไม่ผ่านการพิจารณาของสภา ต่างจากกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ถ้าเราอยากทำการเมืองใหม่ ทำการเมืองดี เราคาดหวังแค่ทำเนียบรัฐบาลไม่ได้ ต้องคาดหวังไปที่การปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงองค์กรนิติบัญญัติด้วย

จากแนวคิดดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการฟอร์มทีม เพื่อเข้าไปบริหารองค์กรนิติบัญญัติ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะเชื่อว่า หากกระบวนการนิติบัญญัติดี จะส่งผลให้ประเทศก้าวหน้าได้

ที่ผ่านมา สภาเป็นที่ตั้งในการผลิตกฎหมายให้กับ ครม. ขณะที่กฎหมายของประชาชนผ่านกลับผ่านได้ยาก ทั้งที่ประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ดังนั้นคนจากพรรคเล็ก ก็มีสิทธิที่จะเสนอกฎหมายได้เช่นกัน  เพราะประชาชนเลือกมา

ทำไมเราจะไม่ให้ ส.ส.20 คน เสนอกฎหมายเข้าไปได้ อันนี้คือ กระบวนการนิติบัญญัติที่เราต้องการเข้าไปเปลี่ยนแปลง กระบวนการนิติบัญญัติ และประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องไม่เป็นนั่งร้านหรืออยู่ใต้อาณัติของรัฐบาล ไม่เกรงใจพรรคการเมืองใด

 

ปดิพัทธ์ สันติภาดา

นอกจากนี้ สภานิติบัญญัติ ต้องมีอำนาจตรวจสอบฝ่ายบริหาร สภาที่เห็นว่าล้มเหลว เกิดเหตุการณ์สภาล่ม รัฐมนตรีไม่มาตอบกระทู้ กฎหมายไม่ผ่าน เพียงเพราะมีการเล่นการเมืองในสภา

ที่สำคัญ ตนเชื่อว่า หากระบบนิติบัญญัติเข้มแข็ง จะเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ของกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบประชาธิปไตยเต็มใบ ถ้าประชาชนมีความเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา จะทำให้เกิดความหวังทั้งบนท้องถนน ในสภา และในคูหาการเลือกตั้ง

ดังนั้น จึงอยากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสภา ให้อำนาจของประชาชนอยู่ที่นั่นอย่างแท้จริง มีตัวแทนของประชาชนที่ทำเพื่อประชาชนอยู่ที่นั่นจริง ๆ เป็นคนที่มีสิทธิพูดแทนประชาชน เพราะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

นายปดิพัทธ์ ยังกล่าวถึงแนวทางการจัดการพื้นที่อาคารรัฐสภา ที่เดินทางไปยากลำบาก ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว ถือเป็นอันตรายของการออกแบบที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาก รู้สึกไม่มีอำนาจ การสร้าง Open Parliament และสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้อยู่ในทุกที่ของชีวิตประจำวัน จะทำให้ประชาชนมีอำนาจอย่างยั่งยืน

ผมตั้งใจว่าจะทำให้สภาเป็น Open Parliament ทุกอย่างจะเปิดเผย โดยที่ประชาชนไม่ต้องร้องขอ ทุกคนก็จะรู้ว่าประธานคนนี้ขับรถประจำตำแหน่งอะไร บินไปดูงานที่ไหนบ้างใช้เงินภาษีไปตัดสูทของตัวเองกี่บาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo