General

‘คอกระท่อม’ พึงระวัง รับสารไมตราไจนีน สูงเกินปริมาณปลอดภัย สังเกตอาการต่อไปนี้

อย.เตือน บริโภคผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพที่มีส่วนประกอบของกระท่อม ระวังได้รับสารไมตราไจนีนในปริมาณอันตราย จนเกิดอาการต่อไปนี้

นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวผู้บริโภคในต่างประเทศเสียชีวิต หลังใช้น้ำกระท่อมสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ เนื่องจากได้รับสารไมตราไจนีนในปริมาณสูงมากจนเกินปริมาณที่ปลอดภัยนั้น

กระท่อม

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใย เนื่องจากพืชกระท่อม มีสารไมตราไจนีน  (Mitragynine) ซึ่งเป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง และอาจนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ที่นิยมบริโภคเพื่อเสริมสุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งอาจอยู่ในรูปของเม็ด เกล็ด ผง แคปซูล ของเหลว หรือรูปแบบอื่น ๆ ใช้รับประทานเสริมจากการรับประทานอาหารหลักตามปกติ

ทั้งนี้ เพื่อคาดหวังประโยชน์ต่อสุขภาพสำหรับผู้ที่มีสุขภาพปกติแต่ไม่สามารถรับประทานอาหารหลักได้ครบ ไม่ใช่สำหรับผู้ป่วย จึงไม่มีผลในทางบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค

อาการข้างเคียงที่พบคือ จะทำให้เกิดใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ประสาทหลอน กระสับกระส่าย เป็นต้น ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

ปัจจุบันสามารถนำกระท่อมมายื่นขออนุญาต อย. เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นยาแผนโบราณจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรืออาหาร ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์การใช้และปริมาณที่ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์

หากผู้จำหน่ายมีเจตนาเพื่อให้เกิดผลด้านสรรพคุณบรรเทา บำบัด รักษาโรค หรือเพื่อเกิดผลต่อสุขภาพ หรือการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น เสริมสร้างโครงสร้าง หรือการทำงานของร่างกาย ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค จะเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร

นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล

หากผู้จำหน่ายมีเจตนาให้บริโภคเพื่อค้ำจุนชีวิต ผลิตภัณฑ์นั้นต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยอาหารใหม่ และได้รับเลขสารบบอาหารอย่างถูกต้องจึงจะจำหน่ายได้

ทั้งนี้ การบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบของกระท่อมอย่างปลอดภัย ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการประเมินความปลอดภัย และได้รับอนุญาตถูกต้อง โดยสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์ ต้องแสดงเลขสารบบอาหาร ปฏิบัติตามคำแนะนำในการบริโภค (ไม่บริโภคมากเกินไป)

นอกจากนี้ ควรปฏิบัติตามข้อความคำเตือนบนฉลาก เช่น ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน และ ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 7 วัน เป็นต้น รวมทั้ง อย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอวดอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ ต่อสุขภาพในทางบำบัด รักษา

ผู้บริโภค สามารถตรวจสอบการได้รับอนุญาตได้จากเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต

หากมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: [email protected] ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo