General

‘อีโบลา’ อันตราย ‘หมอเฉลิมชัย’ รวม 7 เรื่องต้องรู้ หลังระบาดยูกันดา อัตราเสียชีวิต 50%

“หมอเฉลิมชัย” ห่วงไวรัสอีโบลาระบาดรอบใหม่ยูกันดา เหตุอัตราเสียชีวิตสูงถึง 50% รวม 7 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับไวรัสร้ายแรงเพื่อเฝ้าระวัง

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย เรื่อง น่าเป็นห่วง อีโบลาระบาดอีกครั้งที่ยูกันดา เสียชีวิตมากถึง 50% โดยระบุว่า

ไวรัสอีโบลา

กระทรวงสาธารณสุขยูกันดาและองค์การอนามัยโลก ได้แจ้งข่าวการระบาดของโรคอีโบลาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2565 พบว่าในหลายเมืองของประเทศยูกันดา มีผู้ติดเชื้อแล้ว 90 ราย เสียชีวิตมากถึง 44 ราย คือเกือบ 50%

และแม้จะเป็นเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีความรู้ ก็ยังติดเชื้อไปถึง 11 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตไป 5 ราย ราวครึ่งหนึ่งเช่นกัน

การระบาดของอีโบลาระลอกใหม่ครั้งนี้ เป็นสายพันธุ์ซูดาน ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูง 53% แต่ก็ยังน้อยกว่าสายพันธุ์ซาอีร์ซึ่งเสียชีวิตสูงถึง 68%

อัตราการเสียชีวิตของอีโบลานั้น มากกว่าอัตราการเสียชีวิตของโควิด-19 อย่างมากทีเดียว

ในประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยอีโบลาแต่อย่างใด แต่กระทรวงสาธารณสุขไทย ก็ได้ประกาศให้อีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย เช่นเดียวกับที่โควิด-19 เคยเป็นมาก่อน และในปัจจุบันนี้ รายชื่อโรคอีโบลาก็ยังอยู่ในกลุ่มโรคติดต่ออันตราย

อีโบล่า

เราจึงควรมาทำความเข้าใจ และหาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคไวรัสอีโบลา ดังนี้

1. ชื่อโรค: โรคไวรัสอีโบลา หรือโรคไข้เลือดออกอีโบลา

2. เชื้อโรค: เป็นไวรัสในสกุล Ebolavirus วงษ์ Filoviridae มีสี่ชนิดได้แก่ BOBV, EBOV, SUDV, TAFV

3. ระยะฟักตัว: 2-21 วัน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 8-10 วัน

4. อาการและอาการแสดง: ส่วนใหญ่จะเริ่มอาการแบบเฉียบพลัน โดยมีไข้สูง ปวดหัว ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
อาจมีอาการปวดท้อง อาเจียน และถ่ายเหลวง สามารถเจ็บคอ กลืนลำบาก และหายใจลำบาก

นอกจากนั้นจะมีการพยากรณ์โรคที่แย่ลงอย่างมาก ถ้ามีเลือดออกร่วมด้วย โดยเลือดออกนั้นสามารถออกที่ใต้ผิวหนัง เป็นจุดแดง หรือเป็นปื้นสีม่วงดำ เลือดออกที่ตาขาว ไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด และสามารถมีเลือดออกจากทางช่องคลอดได้

ส่วนการเสียชีวิตนั้น ไม่ใช่เกิดจากเลือดออกจนช็อค หากแต่เป็นระบบการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เกิดลิ่มเลือดที่มีปัญหา ทำให้หลายอวัยวะเกิดการล้มเหลว

5. การติดต่อ: เริ่มต้นติดต่อจากสัตว์มาสู่คน เท่าที่พอสืบทราบคือมาจากค้างคาว หลังจากที่มีการติดต่อคนสู่คนได้แล้ว ก็พบว่าเกิดจากการสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่ง ที่สำคัญคือแม้เสียชีวิตแล้ว ไวรัสก็ยังอยู่ในศพอีกนานพอสมควร

เฃนพ.เฉลิมชัย
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ

การติดต่อสู่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ก็เกิดจากเข็มและกระบอกฉีดยา

6. การรักษา: ยังคงใช้การรักษาประคับประคองตามอาการ

7. วัคซีน: ยังไม่มีวัคซีนในปัจจุบัน

กล่าวโดยสรุป

อีโบลา เป็นไวรัสที่มีความร้ายแรงมาก เมื่อเจ็บป่วยแล้วมีอัตราการเสียชีวิตราว 50% ขณะนี้มีการระบาดเพิ่มเติมซ้ำที่ประเทศยูกันดา

ส่วนในประเทศไทย ยังไม่พบผู้ป่วย แต่ได้มีมาตรการผ่านกรมควบคุมโรค ที่จะตรวจเช็คนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศยูกันดาแล้ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo