General

ผู้ป่วยบัตรทอง ได้เฮ!! สปสช. เพิ่ม 10 รายการยาจำเป็น แต่มีราคาแพง ตามบัญชี จ.(2)

บอร์ด สปสช. เห็นชอบสิทธิประโยชน์ 10 รายการ ยาจำเป็นแต่มีราคาแพงตามบัญชี จ.(2) เพิ่มการเข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมผู้ป่วยบัตรทอง

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ให้เข้าถึงการรักษาได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงนั้น การดำเนินการเพื่อให้ผู้ป่วยบัตรทอง เข้าถึงยารักษาโรคที่จำเป็นเป็นหนึ่งในกลไกหลักสำคัญ  โดยเฉพาะกลุ่มยาจำเป็นราคาแพงที่เป็นอุปสรรคต่อการรักษาผู้ป่วย

ยา 1

ที่ผ่านมา ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง มีการพัฒนาและขยายสิทธิประโยชน์ด้านยาอย่างต่อเนื่อง ตามรายการกลุ่มยาบัญชี จ.(2) ที่ผ่านการพิจารณาประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความปลอดภัย และความคุ้มค่าในการรักษา

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 7/2565 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีมติเพิ่มยาบัญชี จ.(2) จำนวน 10 รายการ ให้ครอบคลุมการดูแลรักษาผู้ป่วยเพิ่มเติม

ที่มาของข้อเสนอการเพิ่มสิทธิประโยชน์บัญชียา จ.(2) เป็นผลสืบเนื่องจากคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ มีหนังสือที่ สธ.1015/ว 304 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 เพื่อขอความอนุเคราะห์พิจารณาเพิ่มเติมยาบัญชี จ.(2) จำนวน 10 รายการ

เบื้องต้น บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบตามที่เสนอ ซึ่งยาบัญชี จ.(2) 5 รายการแรก เป็นยาที่ใช้แทนยาเดิมกรณีดื้อยาหรือเพิ่มข้อบ่งใช้ หรือปรับเงื่อนไขการสั่งใช้ยา จากการพิจารณานอกจากไม่มีภาระงบประมาณแล้วยังประหยัดงบประมาณจากการเปลี่ยนใช้ยาเป็นจำนวนถึง 59.64 ล้านบาท ได้แก่

1. ยาโพซาโคนาโซล (Posaconazole) ใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อรามิวโคไมโคสิส (Mucormycosis) ที่ไม่ตอบสนองต่อยา

2. ยาไลนิโซลิด (Linezolid) ใช้รักษาการติดเชื้อเอนเทรโรคอดไคที่ดื้อยาแวนโคไมซิน

3. ยาโซฟอสบูเวียร์ (Sofosbuvir) + ยาเวลป้าทาสเวียร์ (Velpatasvir) และ ยาไรบาวิริน (Ribavirin) รักษาตับอักเสบซี

สปสช.1

4. ยาออกทรีโอไทด์ แอซีเทต (octreotide acetate) รูปแบบ sterile powder ชนิดออกฤทธิ์นาน ใช้ในผู้ป่วยเนื้องอกต่อมใต้สมองกระตุ้นไทรอยด์ (thyrotropin secreting pituitary adenoma)

5. ยาเบวาซิซูแมบ (Bevacizumab inj.) รักษาโรคจอตาผิดปกติในเด็กเกิดก่อนกำหนด

ส่วนยาบัญชี จ.(2) อีก 5 รายการนั้น แม้ว่าจะมีผลต่อการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้น แต่สามารถใช้งบที่ประหยัดได้จากการใช้ยาบัญชี จ.(2) ตาม 5 รายการใหม่ข้างต้นได้ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 37.23 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ที่ประชุมบอร์ด สปสช. จึงมีมติเห็นชอบในคราวเดียวกัน ได้แก่

1. ยาโวริโคนาโซล (Voriconazole) รักษา invasive fungal infection จากเชื้อ Trichosporon spp

2. ยาริทูซิแมบ (Rituximab inj.) กลุ่มโรคนิวโรมัยอิลัยติสออพติกา (neuromyelitis optica spectrum disorder : NMOSD) ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือมีข้อห้ามใช้ยา ยาเพรดนิโซโลน (prednisolone)+เอซาไธโอพรีน (azathioprine)

3. ยาเม็ดนิติซิโนน (Nitisinone) รักษาโรคไทโรซีนีเมียชนิดที่ 1 ให้เฉพาะการรักษาก่อนปลูกถ่ายตับ

4. ยาซิสทีมีน ไบทาร์เทรต (Cysteamine bitartrate) สำหรับผู้ป่วย Nephropathic Cystinosis

5. ยาซัพโพรเทอริน (Sapropterin) (BH4) รูปแบบ oral form สำหรับวินิจฉัยแยกโรคและรักษาโรคภาวะกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีนสูงจากภาวะพร่องเตตราไฮโดรไบโอเทอริน (BH4) และโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria : PKU)

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร
รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร

จากกลไกพัฒนาระบบยานี้ ตลอดระยะเวลา 19 ปี ได้ทำให้ผู้ป่วยบัตรทองเข้าถึงยากลุ่มเข้าถึงยาก เนื่องจากมีราคาแพงได้ เป็นการเพิ่มโอกาสการรักษาให้กับผู้ป่วย ซึ่ง 10 รายการยาใหม่ จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น

อนึ่ง ยาบัญชี จ.(2) หมายถึง รายการยาสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะ โดยมีลักษณะ ดังนี้

1. มีความเหมาะสมที่จะใช้เพียงบางข้อบ่งใช้

2. มีแนวโน้มจะสั่งใช้ยาไม่ถูกต้อง

3. ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญเฉพาะโรค หรือใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

4. ยาที่มีราคาแพงมาก

5. ส่งผลอย่างมากต่อความสามารถในการจ่ายทั้งจากสังคมและผู้ป่วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo